นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาสที่ 3 /2555 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ติดลบร้อยละ 10.2 และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 65.5 สะท้อนสะท้อนวิกฤต EU ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย
สาเหตุหลักมาจากการลดลงของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก ที่ถูกกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของตลาดคู่ค้าไทยที่ชะลอตัว นอกจากนี้เป็นผลของฐานสูงในปีก่อนในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่เติบโตได้ดี แต่ในปี 2555 ระดับการผลิตสินค้าในกลุ่มฮาร์ดดิสก์และอิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัวตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมและการฟื้นตัวกลับมาผลิตในบางโรงงานยังทำได้ไม่เต็มที่
ส่วนการผลิตที่ยังคงมีระดับเพิ่มสูงขึ้นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตอบสนองความต้องการในประเทศเช่น รถยนต์, วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ด้วยแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายบริโภคและลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงผลของนโยบายของรัฐ เช่น โครงการรถคันแรก โครงการจำนำสินค้าเกษตร โครงการป้องกันน้ำท่วม
ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปตลาดยุโรป(EU) ในเดือนก.ย.55 ลดลง 9.5% น้อยกว่าเดือนส.ค.55 ที่ลดลง 22.9% โดยภาพรวมของการส่งออกสินค้าไป EU ในไตรมาส 3/55 หดตัว 17.8% ซึ่งสินค้าหลัก คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง
ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) รายสาขาที่สำคัญในไตรมาส 3/55 ว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ พบว่าการขยายนโยบายรถยนต์คันแรก การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น และโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์สามารถกลับมาผลิตได้ปกติ จึงมีการเร่งการผลิตรถยนต์เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า โดยมีการผลิตรถยนต์จำนวน 648,751 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 36.68%
โดยแนวโน้มไตรมาส 4/55 คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ 2,350,000 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปึก่อนเพิ่มขึ้น 61.20% มีการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ 1,250,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 57.41% และการส่งออก 1,100,000 คัน เพิ่มขึ้น 49.53%
ส่วนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในไตรมาส 3/55 (การผลิตปูนซีเมนต์ไม่รวมปูนเม็ด) คาดว่า ขยายตัว 14.60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม การขยายกำลังการผลิตวัสดุก่อสร้าง และวัสดุทดแทนไม้ที่ใช้ปูนซีเมนต์เป็นวัตถุดิบหลักได้รับความนิยมมากขึ้น การใช้ปูนซีเมนต์ในการฟื้นฟูดโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายจากอุทกภัย รวมทั้งนโยบายเร่งรัดพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งสู่ชานเมือง ทำให้ความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน
โดยแนวโน้มไตรมาส 4/55 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 18.11% และเมื่อเฉลี่ยทั้งปีคาดว่ายอดการผลิตจะขยายตัว 11.82%
สศอ.ยังได้คาดการณ์การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมปี 55 โดย GDP อุตสาหกรรมจะขยายตัว 5.5-6.5% และ MPI จะขยายตัว 5.0-6.0% และในปี 56 GDP อุตสาหกรรมจะขยายตัว 4.0-5.0% และ MPI จะขยายตัว 3.5-4.5%
โดยในปี 56 มีปัจจัยบวกคือ การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวจากการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ, แรงกดดันด้านราคาน้ำมัน และอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การฟื้นตัวของบางอุตสาหกรรมที่อาจล่าช้าไปถึงสิ้นปี 55 และต่อเนื่องถึงปี 56 และการแข็งค่าของเงินบาทหลังธนาคารกลางสหรัฐประกาศใช้มาตรการ QE3