กรมการข้าว เตือนเกษตรกรติดตามสภาพอากาศใกล้ชิดระวังปัญหา“ข้าวกระทบหนาว"

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 25, 2012 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาพอากาศเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลายพื้นที่ มีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิลดต่ำลง กรมการข้าวมีความเป็นห่วงเกษตรกรที่ปลูกข้าว จะประสบกับปัญหา“ข้าวกระทบหนาว" ไม่ได้ผลผลิตเต็มที่ โดยพันธุ์ข้าวที่มีความอ่อนแอต่อสภาพอากาศหนาวเย็น ได้แก่ พันธุ์พิษณุโลก 2 ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับข้าวทุกระยะ

ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงนาและสังเกตความผิดปกติของต้นข้าว เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที สำหรับอาการของต้นข้าวที่ได้รับผลกระทบนั้น ข้าวที่อยู่ในระยะกล้า ต้นข้าวจะชะงักการเจริญเติบโต แคระแกรน ใบเหลือง และอาจหยุดการเจริญเติบโตจนถึงตายได้ในกรณีที่อุณหภูมิลดต่ำลงมาก ถ้าเกิดในระยะออกดอกหรือระยะผสมเกสร จะทาให้การผสมไม่ติดและเกิดเมล็ดลีบมาก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เกษตรกรยังไม่ควรใส่ปุ๋ยให้กับต้นข้าว เนื่องจากต้นข้าวจะไม่สามารถดึงปุ๋ยไปใช้ได้ตามปกติ ควรใส่เมื่ออุณหภูมิสูงและอากาศอุ่นขึ้น ต้นข้าวจึงจะสามารถดูดปุ๋ยและเจริญเติบโตตามปกติ

สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ควรเฝ้าระวังโรคไหม้ เนื่องจากขณะนี้สภาพอากาศที่เย็น รวมทั้งแห้งและชื้น ต้นข้าวจะมีความอ่อนแอต่อโรคไหม้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ โรคนี้พบมากในข้าวพันธุ์พื้นเมืองไวต่อช่วงแสง ได้แก่ ข้าวดอกมะลิ 105 และข้าวพันธุ์ผสม เช่น กข6 และ กข 15 ที่เกษตรกรนิยมปลูก

สาเหตุจากเชื้อราเกิดได้กับข้าวทุกระยะ หากเป็นข้าวในระยะกล้า จะพบใบมีแผลจุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา ถ้าอาการของโรครุนแรง กล้าข้าวจะแห้งตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้ ในระยะแตกกอจะพบแผลบริเวณข้อต่อของใบและข้อต่อของลำต้น และระยะคอรวง (ระยะออกรวง) จะพบแผลบริเวณคอรวง ซึ่งจะมีผลทำให้เมล็ดลีบหรือคอรวงหักได้ ผลผลิตข้าวจะลดลงหรือไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

ทั้งนี้ หากพบเริ่มมีโรคไหม้ในแปลงนา เกษตรกรสามารถควบคุมความรุนแรงของโรคได้ โดยใช้สารป้องกันกำจัดโรคตามคาแนะนาของกรมการข้าว พ่นในข้าวที่ออกรวงจนถึงใกล้เก็บเกี่ยว เกษตรกรที่เตรียมจะปลูกข้าวในขณะนี้ ควรติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้พันธุ์ข้าวพิษณุโลก 2 โดยปลูกพันธุ์อื่นที่สามารถทนสภาพอากาศหนาวได้ดีกว่า เช่น กข31 (ปทุมธานี 80)


แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ