นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 55 ไว้ที่เติบโต 5.7% โดยอุปสงค์ในประเทศยังมีแรงส่งต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน แม้ว่าเครื่องชี้การลงทุนและการนำเข้าจะส่งสัญญาณว่าอุปสงค์ในประเทศอาจแผ่วลงจากที่ประเมินไว้ก็ตาม
ทั้งนี้ กนง.คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 3/55 จะขยายตัว 3-4% และจะขยายตัวเป็น 15% ในไตรมาส 4/55 เนื่องจากฐานปีก่อนอยู่ในระดับต่ำจากผลกระทบปัญหาอุทกภัย
สำหรับปี 56 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในระดับ 4.6% จากเดิมคาดไว้ 5% โดย กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า แต่ในอัตราที่ลดลงจากครั้งก่อนค่อนข้างมากจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงและมีปัญหายืดเยื้อ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศมากกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งมีผลเพิ่มเติมจากการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลในส่วนของแผนการบริหารจัดการน้ำที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ในครั้งก่อน
"แม้จีดีพีไทยจะลดลง แต่เราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวใกล้เคียงระดับศักยภาพ เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวดี ซึ่งปัจจัยที่ทำให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวดีและนำไปสู่การขยายตัวของจีดีพีค่อนข้างมาก มาจากกรายได้ของเกษตรกรที่สูงขึ้น การจ้างงาน และมาตรการจของภาครัฐ เช่นการคืนภาษีรถยนต์ที่จะมีผลต่อเนื่องไปถึงปี 56 ประกอบกับภาวะด้านการเงินที่ยังเอื้อ การขยายตัวของสินเชื่อยังสูง และสถาบันการเงินไม่ได้เข้มงวดการปล่อยกู้มากนัก"นายไพบูลย์ กล่าว
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คือ ภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาของยุโรปทียังยืดเยื้อ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐก็มีความเสี่ยงที่มาตรการด้านการคลังจะสิ้นสุดอายุลงในปีนี้ รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักทั้ง 12 ประเทศขยายตัวลดลงด้วย ด้านแรงขับเคลื่อนหลักยังมาจากการบริโภคลงทุนในประเทศ อัตราดอกเบี้ยต่ำ และธนาคารปล่อยสินเชื่อในระดับสูง
นายไพบูลย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจคู่ค้าหลักในปีนี้มีแนวโน้มอ่อนแอกว่าที่ประมาณการไว้เดิมที่ 4.5% เหลือ 4.3% ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างชัดเจน จากเดิมปี 55 มองไว้ว่าเติบโต 7% เหลือเพียง 4.4% โดยจะต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป แต่ช่วงไตรมาส 4/55 การส่งออกน่าจะเติบโตสูงถึง 23.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เกิดปัญหาอุทกภัยทำให้การส่งออกหดตัว 6.5% ขณะที่ไตรมาส 3/55 การส่งออกหดตัว 3%
อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศยังเป็นปัจจัยหนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี สามารถผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวไปได้ ทำให้ธปท.ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 55 ที่ระดับเดิม 5.7%
ขณะที่ ธปท.ปรับประมาณการขยายตัวของการส่งออกในปี 56 ลดลงจาก 10.8% เป็น 9% เหตุผลหลักมาจากเศรษกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ครั้งก่อน โดยเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามองว่าจะขยายตัวเพียง 4.8% จากเดิม 5.1% แต่ก็ถือเป็นการขยายตัวทีดีกว่าปีนี้ ขณะที่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศยังมาจากอุปสงค์ทั้งการบริโภคและลงทุนที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีเป็นแรงส่งตั้งแต่ปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 56 ให้เติบโตได้ 4.6%
สำหรับปัญหาของกลุ่มประเทศกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐที่ค่อนข้างอ่อนแอกว่าที่ประเมินไว้ และอาจมากกว่าที่ประเมินไว้ และเมื่อมองไปข้างหน้าก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกใน 3 ด้าน คือ วิกฤติหนี้สาธารณะของกลุ่มยูโร เทียบกับรายงานครั้งก่อน มีมาตรการแก้ไขที่ชัดเจนขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจยังแย่ แต่ในแง่นโยบายยังดีมาตลอด เช่น การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบของกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู) แต่ภาคปฏิบัติยังคงต้องใช้เวลาในการหารือและแก้ไขค่อนข้างนาน ซึ่งกลายเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก หากการปฏิบัติเกิดปัญหาและสะดุดลง หรือไม่เกิดมาตรการใด ๆ ขึ้น หรือประเทศใดประเทศหนึ่งในยุโรปเศรษฐกิจแย่ลงอีก
ปัญหาที่เกิดจากแรงกระตุ้นจากนโยบายการคลังของสหรัฐจะสิ้นสุดลงในปี 55 โดยเฉพาะมาตรการด้านภาษี และมาตรการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งหากมีการเก็บภาษีเพิ่มก็จะเป็นผลลบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น นำไปสู่ความเสี่ยงที่อาจจะไปสู่การแก้ไขปัญหาของเศรษฐกิจสหรัฐล่าช้าโดยไม่ได้ตั้งใจ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปน่าจะเป็นเพียงระยะสั้นที่จะเข้ามาเสริมสร้างความเชื่อมั่นระดับหนึ่งเท่านั้น ส่วนแผนระยะยาวหากต้องการความเชื่อมั่นภาคเอกชนมากกว่านี้และเป็นไปในระยะยาวก็ต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาเสริม
ทางด้านเศรษฐกิจเอเชียขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะกระทบกับการส่งออกทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะจีน และประเทศที่พึ่งพาการส่งออกทั้งไต้หวัน เกาหลีใต้ ชะลอตัว นำไปสู่การค้าขายในกลุ่มเอเชียชะลอลง ส่งผลให้ ธปท.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเอเชียลง โดยในปี 55 เดิมมองไว้ 5.7% เหลือ 5.4% ส่วนปี 56 จาก 6.6 เหลือ 6.2 โดยจีนที่เป็นเศรษฐกิจใหญ่สุดของเอเชีย ปรับลดลงจาก 8% เหลือ 7.7% และปี 56 จาก 8.5% เหลือ 8.2%
ขณะที่การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบชัดเจน โดยเฉพาะสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ คาดว่าการส่งออกในไตรมาส 3/55 จะหดตัว 3.3% จากนั้นในไตรมาส 4/55 จะขยายตัวสูงถึง 23.2% แต่ก็มาจากฐานในปีก่อนที่ต่ำในช่วงเกิดอุทกภัย เชื่อว่าครึ่งปีหลังของปีหน้าจะมีแนวโน้มดีขึ้น ส่งผลให้มีการปรับคาดการณ์มูลค่าการส่งออกของปี 56 เป็น 9% สูงกว่าปี 55 ที่มองว่าจะขยายตัว 4.4%
นายไพบูลย์ กล่าวว่า กนง.มองว่าแรงกระตุ้นภาครัฐอาจน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยในปี 55 คาดว่าภาครัฐจะมีการใช้จ่ายโดยเฉพาะโครงการภายใต้ พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เพียง 7.5 พันล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 2.5 หมื่นล้านบาท และในปี 56 คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเพียง 6 หมื่นล้านบาท จากที่คาดไว้สูงถึง 1.75 แสนล้านบาท เนื่องจากการเบิกจ่ายต้องใช้เวลา เพราะการคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินการต้องผ่านกระบวนการอีกมาก ทำให้การเบิกจ่ายของรัฐบาลไปเกิดขึ้นมากในปี 57-58 มากกว่า โดยมองว่าจะอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท/ปี
อุปสงค์ในประเทศในไตรมาส 3/55 ชะลอตัวลง โดยสาเหตุสำคัญมาจากการลงทุนภาคเอกชนในส่วนของการชดเชยความเสียหายของอุทกภัยลดลงแล้ว ทำให้การนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงไปเร็วและมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็ถือว่าเป็นการขยายตัวเข้าสู่ปกติ ทำให้แนวโน้มการลงทุนในช่วงไตรมาส 3/55 ขยายตัว 1% ต่อเดือน การลงทุนเพื่อการส่งออกลดลงอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับการผลิตและขายในประเทศ สะท้อนถึงการช้จ่ายในประเทศเร่งตัวมาชดเชย
แต่จากผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคเอกชนขณะนี้ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลมาช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับเอกชน ประกอบกับมีการลงทุนในโครงข่าย 3G บางส่วน และภาวะต้นทุนทางการเงินผ่อนยังผ่อนคลาย สอดคล้องกับผลสำรวจภาวะการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ พบว่าความต้องการสินเชื่อยังมีอยู่สูง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์พร้อมจะสนับสนุน
สรุปปัจจัยเสี่ยงของเศรษบกิจโลกค่อนข้างสูงกว่าที่ประมาณการไว้ โดยมองไปข้างหน้าความเสี่ยงด้านต่ำมีมากกว่าด้านสูง แต่ประมาณการใหม่ของธปท.ไม่ได้รวมแผนโครงการเมกะโปรเจ็คต์ 2.27 ล้านล้านบาทในปี 56 เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ แต่หากทำได้ก็จะส่งผลให้จีดีพีก็จะต้องปรับสูงขึ้น แต่ความเสี่ยงด้านลบคือการเบิกจ่ายจาก พ.ร.บ.บริหารจัดการน้ำล่าช้าออกไปอีก จีดีพีก็จะไม่สูงกว่าที่ประมาณการไว้ และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ
"ทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้ามีปัจจัย 4-5 ปัจจัย คือภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของกลุ่มยุโรปและสหรัฐ การส่งออกของประเทศในภูมิภาคและไทย ประสิทธิภาพภาคการคลังในการใช้จ่ายตามแผนการลงทุน ความต่อเนื่องของอุปสงค์ภาคเอกชน หลังปัจจัยสนับนุนจากการฟื้นฟูน้ำท่วมหมดไป ความเสี่ยงจากสินเชื่อภาคเอกชนที่ขยายตัวสูง และแรงกดดันเงินเฟ้อจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 ที่จะมีผลทั่วไปประเทศในเดือน ม.ค.56 และการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม"นายไพบูลย์ กล่าว