3 ค่ายมือถือทั้งบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด และ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด เปิดแถลงข่าวบ่ายวันนี้ชี้แจงประเด็นข้อสงสัยการประมูล 3G ที่ผ่านมาโปร่งใส วอนมองที่ประโยชน์และความต้องการประชาชนเป็นหลัก พร้อมเดินหน้าลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารเพื่อคนไทยทั่วประเทศ ย้ำทุกค่ายมีเหตุผลในการเลือกช่วงความถี่และเคาะราคาที่ต่างกัน มั่นใจการประมูล 3G ครั้งนี้สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
"โอเปอเรเตอร์ 3 รายต่างเชื่อมั่นว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกด้านจะได้ข้อสรุปที่กระจ่างแจ้งต่อประชาชนโดยเร็ว และคนไทยจะได้ใช้บริการ 3G ทัดเทียมกับคนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก"เอกสารเผยแพร่ ระบุ
นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และนายอธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการและหัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านกฎหมาย บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ในฐานะที่เป็นเอกชนผู้เกี่ยวข้องและเข้าร่วมในเหตุการณ์การประมูล 3G คลื่นความถี่ 2.1 GHz มาตั้งแต่ต้น พร้อมกันชี้แจงว่า ผู้ให้บริการทั้งสามรายมีเจตนารมณ์ชัดเจนในการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้
เนื่องจากเทคโนโลยี 3G เป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่จะช่วยยกระดับให้คนไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งเทคโนโลยีสื่อสารล้ำสมัยจะช่วยสนับสนุนความเจริญและการพัฒนาประเทศในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม และการศึกษา โดยผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย เป็นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในวงการสื่อสารโทรคมนาคมมาเป็นเวลาหลายสิบปี และต่างมีความพร้อมที่จะร่วมยกระดับเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศมีความสามารถแข่งขันและมีศักยภาพเทียบนานาประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ การเข้าร่วมประมูล 3G ของโอเปอเรเตอร์ทั้งสามราย เป็นโอกาสที่จะได้สร้างสรรค์บริการเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ลูกค้า โดยเฉพาะในช่วงที่สัญญาสัมปทานกำลังจะสิ้นสุดลง ผู้ให้บริการจำเป็นต้องมีแนวทางในการดูแลลูกค้า เพื่อลดผลกระทบในการให้บริการหลังจากสัมปทานสิ้นสุดลง และให้ลูกค้าได้รับบริการที่มีคุณภาพและต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเข้าร่วมประมูลขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ประกอบการแต่ละราย ทั้งในแง่แหล่งเงินทุน ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการให้บริการ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของลูกค้า ดังนั้น แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการประมูลในครั้งนี้เป็นการประมูลที่เอื้อเอกชนทั้งสามราย จะต้องมองถึงความพร้อมของเอกชนด้วย หากมีการเพิ่มราคาจากราคาตั้งต้นที่ 4,500 ล้านบาท ที่มีการเสนอในกรอบข้อสรุปข้อศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจมีผลต่อจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้
โอเปอเรเตอร์ทั้งสามราย ยืนยันว่า เงินรายได้ที่เข้ารัฐจากการประมูลครั้งนี้ไม่ได้ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำที่วางไว้ ซึ่งราคาประมูลที่เหมาะสมจะสะท้อนต้นทุนการให้บริการ ทำให้อัตราค่าบริการมีความเหมาะสมพอที่ประชาชนทุกกลุ่มจะเข้าถึงได้ง่าย ประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์จากการใช้ 3G ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และที่สำคัญ คือ การที่ประเทศชาติมีการพัฒนาและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากราคาประมูลแพง ค่าบริการก็จะแพง ประชาชนที่ได้ประโยชน์มีน้อย จะเป็นการสูญเสียของประเทศชาติมากกว่า
ดังนั้น การลงทุนของโอเปอเรเตอร์แต่ละราย มิใช่เพียงเงินค่าคลื่นที่ประมูลได้เท่านั้น แต่โอเปอเรเตอร์ยังต้องลงทุนในการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่และจำนวนประชากรตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด อีกทั้งยังต้องมีการลงทุนในการพัฒนาระบบการให้บริการลูกค้าเพื่อสามารถให้บริการประชาชนได้มากที่สุด ซึ่งสุดท้ายรายได้จะกลับสู่ภาครัฐและรัฐจะมีรายได้จากการลงทุนโครงข่ายและภาษีรายได้ของผู้ประกอบการ
สำหรับประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการฮั้วประมูล ทำให้ได้ราคาคลื่นความถี่ในราคาไม่สูงนั้น 3 โอเปอเรเตอร์ชี้แจงว่า การเพิ่มเงินในการประมูลก็เพื่อให้ได้เลือกช่วงความถี่ที่ต้องการก่อน ซึ่งช่วงคลื่นที่เหลือก็ไม่ได้แตกต่างกันจนทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนัก และผลการประมูลก็บรรลุเป้าหมายเพราะได้เงินประมูลสูงกว่าราคาตั้งต้น ส่วนประเด็นการฮั้วประมูลนั้นยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้ประกอบการทุกรายก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขการประมูลเดียวกัน หากมีการฮั้วกันก็จะถูกตัดสิทธิ์จากการประมูล อีกทั้งยังเสื่อมเสียชื่อเสียงในการประกอบธุรกิจต่อไป ดังนั้น ผู้เข้าร่วมการประมูลทั้ง 3 ราย ยืนยันมั่นใจว่าได้ปฎิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขและข้อปฏิบัติในการประมูลตามที่กสทช.กำหนดทุกประการ
ที่สำคัญ โอเปอเรเตอร์ทั้งสามรายมีความเชื่อมั่นในการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHzของ กสทช. ว่าได้ดำเนินการถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย รวมทั้งยังมั่นใจในหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในการจัดการประมูล ซึ่ง กสทช. ได้ศึกษาแนวทางการประมูลอย่างละเอียดรอบคอบ มีการวิจัย และมีที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญในการประมูล
นอกจากนี้ ในวันจัดการประมูล ยังได้เชิญผู้สังเกตการณ์ที่เป็นกลาง ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมาร่วมเป็นสักขีพยานด้วย อีกทั้งการที่ กสทช. ได้ยื่นเอกสารการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz ให้กับ 4 องค์กรตรวจสอบหลักของประเทศ ประกอบด้วย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ย้ำชัดเจนถึงความบริสุทธิ์ใจและความมุ่งมั่นของกสทช.ที่ทำให้การประมูลมีความโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน