ภาคธุรกิจไทยมองกม.การลงทุนของพม่ายังเป็นอุปสรรคสำคัญ-โครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 29, 2012 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนิต โสรัตน์ ประธานสภาธุรกิจ GMS ประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาเรื่อง"วิเคราะห์กฎหมาย การลงทุนในพม่าฉบับใหม่ และโอกาสของผู้ประกอบการไทย"ว่า ปัญหาและอุปสรรคในการลงทุนในพม่า คือ กฏหมายเกี่ยวกับการลงทุนฉบับใหม่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศมากนัก เพราะมีหลายมาตราที่ทำให้นักลงทุนค่อนข้างไม่สบายใจ เช่น ห้ามการถือหุ้นไม่ให้เกิน 50% จากเดิมลงทุนได้ทั้ง 100% รวมทั้งระเบียบข้อบังคับต่างๆ ยังมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย และปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากระบบศาลของพม่ายังไม่มีความเป็นสากล

นอกจากนั้น ค่าเช่าที่ที่ดินในพม่าในทุกพื้นที่มีราคาสูง เพราะมีการเก็งกำไรและต้องผ่านนายหน้าหลายทอด ระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบไฟฟ้าไม่พอเพียง โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าของพม่าพึ่งพาพลังงานน้ำถึง 70% ทำให้ในหน้าแล้งเกิดสภาวะขาดแคลนกระแสไฟฟ้าอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของนักลงทุน และยังมีปัญหาทางด้านการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและแรงงานวิชาชีพยังมีน้อยมาก

ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ระบบธนาคารของพม่าที่ยังมีความล้าหลัง ยังไม่สามารถทำธุรกรรมด้านการเงินใดๆได้ ทำให้มีปัญหาด้านการโอนเงิน การขอสินเชื่อโดยการใช้หลักทรัพย์ในพม่าเป็นหลักประกัน จึงมองว่าควรเร่งมีการเจรจาส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ของไทย เข้าไปตั้งสำนักงาน เพื่อนักลงทุนไทยจะสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

นักลงทุนไทยเองก็ยังกล้าๆ กลัวที่จะเข้าไปลงทุนในพม่า โดยส่วนใหญ่จะเน้นการลงทุนตามแนวชายแดนไทย-พม่ามากกว่า ปัจจุบันมีปัญหาด้านแรงงานที่ทำงานอยู่ตามชายแดนมีจำนวนลดลง เพราะแรงงานชาวพม่าย้ายมาทำงานในเมืองมากขึ้นจากผลของค่าแรงที่สูงกว่า และยังมีอุปสรรคสำคัญอีกหลายๆด้าน เช่น ภาษีโรงเรือนที่มีอัตตราที่สูงมาก และผังเมืองยังมีปัญหา มองว่าควรจะมีการร่วมมือกันกับภาครัฐในการทำ Free Zone ตามแนวชายแดนเพื่ออาศัยประโยชน์จากฝั่งพม่ามากกว่า

อย่างไรก็ตาม พม่ามีพื้นที่ต่างๆที่น่าลงทุน พื้นที่ในภาคเหนือที่น่าสนใจและมีศักยภาพ คือมณฑลมัณฑะเลย์เป็นที่ที่มีประชากรณ์มากและเหมาะสำหรับการปลูกมันสำปะหลังและข้าวบาเล่ย์ ขณะที่ทางรัฐฉานเป็นพื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติและมีพลเมืองมากที่สุด สามารถปลูกพืชเมืองหนาวได้ แต่เส้นทางเข้า-ออกยังลำบาก ในด้านของอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐานยังต้องพัฒนาอีกมาก และปัญหาชนกลุ่มน้อยที่ยังมีอยู่หลายกลุ่ม จึงยังไม่เหมาะสมในขณะนี้

ภาคกลาง มณทฑอิระวดี มีประชากรหนาแน่นและมีแม่น้ำไหลผ่าน ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ของพม่า ส่วนมณฑลย่างกุ้ง เป็นเมืองท่าของพม่าของพม่า มีท่าเรือขนาดใหญ่สามารถรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ 300,000 ตู้ต่อปี และจะมีการขยายให้รับได้ 5,000,000 ตู้ต่อปี ภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ ปัจจุบันญี่ปุ่นมุ่งที่จะเข้าไปลงทุนในย่างกุ้งเป็นจำนวนมาก เพราะมองว่าย่างกุ้งเป็นเมืองที่โตเร็ว มีจุดเข็งที่ค่าแรงถูก และค่าจ้างในการทำงานล่วงเวลายังมีราคาถูกอยู่ เนื่องจากเรื่องของกฏหมายที่ยังไม่เข้มงวดมากนัก แต่ปัญหาที่ยังเป็นอุปสรรคคือ เรื่องของกระแสไฟฟ้าที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ต่อมาคือเมืองพะโด (หงสาวดี) ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำพะโด เหมาะในการลงทุนเกี่ยวข้องกับข้าวและพืชชุ่มน้ำต่างๆ ซึ่งในขณะนี้พม่าผลิตข้าวได้ปีละ 10 ล้านตันต่อปี บริโภคภายในประเทศ 9 ล้านตันต่อปี ในอนาคตจะมีศักยภาพในการส่งออกข้าวมากที่สุดในภูมิภาค

นายธันวา มหิทธิวาณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท V-Ventis จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กล่าวว่า กฏหมายการลงทุนจากต่างชาติฉบับใหม่ของพม่า ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับประเภทธุรกิจที่ต้องห้ามสำหรับการลงทุนของชาวต่างชาติ ซึ่งคณะกรรมการลงทุนต่างชาติเป็นผู้มีอำนาจและดุลพินิจในการตัดสินใจ และมีข้อกฏหมายที่กล่าวว่า คณะกรรมการการลงทุนต่างชาติมีอำนาจในการขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติให้กับประชาชนพม่า หากนักลงทุนต่างชาติไม่สามารถปฏิบัติตามกฏหมายหรือเงื่อนไขในสัญญาที่ให้ไว้กับรัฐบาล

"จะเห็นได้ว่าทุกๆอย่างอยู่ที่ดุลพินิจของคณะกรรมการ หากครั้งแรกมีการอนุมัติและเห็นว่าถูกต้องตามกฏหมาย แต่เวลาผ่านไปอาจจะพิจารณาว่าผิดข้อกฏหมาย จะทำให้ต้องถูกนำหุ้นไปขายให้กับประชาชนชาวพม่า จึงทำให้มีความเสี่ยง ในการที่จะเข้าไปประกอบกิจการต่างๆ เพราะข้อกฏหมายยังไม่มีความชัดเจน"นายธันวา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ