นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่า จังหวัดขอนแก่น เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจะได้ผลตอบแทนมากที่สุด อยู่ไร่ละ 3,676 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของต้นทุนทั้งหมด
สำหรับผลการศึกษาด้านประสิทธิภาพเชิงเทคนิคการผลิตมันสำปะหลัง พบว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงเทคนิคการผลิตตามลำดับ ได้แก่ แรงงานที่ใช้ในการผลิต (ถ้าเพิ่มแรงงานในการผลิต ก็จะมีผลทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นไปด้วย) รวมไปถึงปริมาณปุ๋ยเคมี และการใช้ยาป้องกันกำจัดวัชพืช รองลงมาได้แก่ ปริมาณท่อนพันธุ์ที่ใช้ปลูก การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และการใช้ยาป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงเทคนิคการผลิตมันสำปะหลังในแต่ละพื้นที่ ควรถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามหลักวิชาการ และเหมาะสมกับสภาพและขนาดพื้นที่ปลูก อันได้แก่ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ ฮอร์โมน ยาป้องกันและกำจัดวัชพืช/ศัตรูพืช/ท่อนพันธุ์ และแรงงานในการผลิต ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อปริมาณผลผลิตมันสำปะหลัง เพราะหากใช้อย่างเหมาะสม จะส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการศึกษายังสรุปได้ว่า เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง สามารถที่จะเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังได้อีกประมาณร้อยละ 16โดยที่ใช้ปัจจัยการผลิตในปริมาณเท่าเดิม จึงจะทำให้เกษตรกรผลิตมันสำปะหลังเต็มประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ควรสนับสนุนการใช้แรงงานในจำนวนที่เหมาะสมและเต็มความสามารถกับขนาดพื้นที่ปลูก ส่งเสริมให้เกษตรกรมีขนาดพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมต่อการลงทุนและผลตอบแทน สามารถใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม รวมทั้งอาจมีการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกร และรณรงค์ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลังเมื่อมีอายุครบ 12 เดือน เพราะหัวมันสำปะหลังจะมีขนาดใหญ่และได้น้ำหนัก รวมถึงมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงอีกด้วย