ธปท.คาด GDP Q3/55 โต 3.3% จาก Q3/54 และโต 0.7% จาก Q2/55

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 31, 2012 15:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือนกันยายน 2555 ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออกหดตัวต่อเนื่องเช่นเดียวกับการส่งออก ขณะที่การผลิตของอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่ายในประเทศ การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานยังทรงตัวในระดับต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากผลของฐานราคาพลังงานที่ต่ำในปีก่อนเป็นสำคัญ

นายเมธี กล่าวต่อว่า ในเดือนกันยายนเห็นผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกต่อการผลิต และการส่งออกค่อนข้างมากขึ้นและต่อเนื่อง แต่เสถียรภาพเศรษฐกิจยังดี จากการท่องเที่ยวและบริโภค โดยการบริโภค ยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยได้รับแรงสนับสนุนค่อนข้างดีตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น จากอัตราการว่างงานที่ต่ำ โดยธปท.คาดเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 4/55 เทียบกับไตรมาส 3/55 ยังเป็นบวกและกลับมาฟื้นตัวอีกทีในปี 56

ทั้งนี้ ธปท.คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/55 โต 3.3% เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน และขยายตัว 0.7% เมื่อเทียบไตรมาส 2/55 โดยการส่งออกหลังจากนี้ไป 3-6 เดือน มูลค่าการส่งอกจะทรงตัวที่ 1.9 -2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯต่อเดือน โดยการส่งออกจะมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในไตรมาส 2/56 เป็นต้นไป ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวไตรมาส 1/56

สำหรับในช่วง 9 เดือนของปี 55 การส่งออกไทยไปทั่วโลกหดตัว 0.9% ขณะที่การส่งออกไปอาเซียนหดตัว 11.7% ทำให้ธปท.ปรับประมาณการส่งออกลดลงในปีนี้เหลือ 4.4% แต่ว่าจะกลับมาขยายตัว 9% ในปี 56 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี

นายเมธี กล่าวว่า ธปท.ติดตามปัญหาผลกระทบพายุเฮอริแคน แซนดี้ ที่กระทบสหรัฐฯ ใน 3 ด้านอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย ผลกระทบต่อธุรกรรมของเศรษฐกิจว่าจะหยุดนานแค่ไหน กระทบด้านไหนบ้าง, ความเสียหายของทรัพย์สิน, ภัยพิบัติกระทบต่อศักยภาพของเศรษฐกิจ ศักยภาพการผลิตหรือไม่ เพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้หากดูโดยรวม ทั้ง 3 ด้านคงกระทบกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า แต่ว่าไม่ได้เป็นผลในวงกว้าง เพราะเศรษฐกิจและการผลิตหลักของสหรัฐฯ อยู่ที่แคลิฟอร์เนีย จึงไม่กระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจมากนัก แต่ถ้าในแง่ทรัพย์สินคิดว่าน่าจะเสียหายหนัก แต่หากมองในมุมที่ดี จะมีการบริโภค การลงทุนชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ