อย่างไรก็ดีการส่งออกเหล็ก โลหะ และยานยนต์โดยเฉพาะรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังขยายตัวดี
ส่วนการนำเข้าหดตัวร้อยละ 7.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวของการนำเข้าทองคำและหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ใช้ในในอุตสาหกรรม เพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ
การส่งออกที่หดตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 13.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การผลิตของอุตสาหกรรมที่ผลิตทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและเพื่อส่งออกยังคงขยายตัวดีโดยเฉพาะการผลิตรถยนต์เพื่อเร่งส่งมอบให้ลูกค้า
สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 8.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวจากทั้งผลผลิตข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และปศุสัตว์ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงหดตัวร้อยละ 11 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามราคายางพาราที่หดตัวจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลงและผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาสุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่หดตัวจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 3.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน
ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2555 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออกได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ประกอบกับการใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมและทดแทนความเสียหายจากอุทกภัยลดลง โดยการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงกลับสู่ภาวะปกติในปลายไตรมาส ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีสำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน