ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติของสหรัฐระบุว่า อภิมหาพายุที่ไร้ซึ่งความปราณีได้เคลื่อนตัวเข้าถล่มชายฝั่งใกล้กับเมืองแอตแลนติก ซิตี้ เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณ 07.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ด้วยความเร็วลมพายุ 80 ไมล์ต่อชั่วโมง ภายในเวลาไม่นานหลังจากที่ทางศูนย์ฯได้ปรับเพิ่มระดับความรุนแรงของลมพายุเป็นระดับที่รุนแรงกว่าพายุไซโคลน และได้สร้างความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินด้วยคลื่นขนาดใหญ่ที่ซัดถล่มตลอดแนวชายฝั่ง
พายุแซนดี้ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย ทำให้รัฐบาลมีคำสั่งอพยพประชาชนหลายล้านคนใน 6 รัฐอย่างเร่งด่วน ส่งผลให้หลายเมืองต้องถูกปล่อยทิ้งร้างเป็นโกสท์ทาวน์
อิทธิพลลมพายุที่รุนแรงส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดทำลายแนวกั้นคลื่นในเมืองแอตแลนติก ซิตี้ โดยกระแสน้ำได้ทะลักเข้าท่วมตัวเมืองในที่สุด เพียงไม่นานทั้งถนนและบ้านเรือนต่างก็ถูกทับถมไปด้วยโฟมและทราย
เดวิด อาร์โนลด์ ประชาชนในรัฐนิวเจอร์ซีย์กล่าวว่า แซนดี้เป็นพายุที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เขาเคยประสบมา และน้ำทะเลได้หนุนขึ้นมาท่วมถนนและต้นไม้ที่หักโค่นในทุกที่
สำนักงานผู้ว่าการรรัฐนิวยอร์กเปิดเผยว่า มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 50 รายอันเนื่องจากอิทธพลของลมพายุ ขณะที่บ้านเรือนและธุรกิจกว่า 8 ล้านแห่งในหลายรัฐไม่มีไฟฟ้าใช้
นิวยอร์กคาดได้รับความเสียหายรุนแรงสุด
นิวยอร์กซึ่งล้อมรอบไปด้วยทะเลและแม่น้ำคาดว่า จะมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากอิทธิพลของลมพายุที่ทำให้เกิดคลื่นสูงถึง 3.4 เมตรมากที่สุด นอกจากนี้ นิวยอร์กยังเป็นศูนย์กลางทางการเงินของประเทศ โดยก่อนหน้านี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (New York Stock Exchange - NYSE) ได้ออกแถลงการณ์ว่า ตลาดจะปิดทำการซื้อขายแบบ physical trading floor หรือการซื้อขายในห้องค้าที่ใช้การสื่อสารด้วยสัญญาณมือหรือเคาะกระดาน ในวันจันทร์ที่ 29 ต.ค. เนื่องจากอิทธิพลของพายุเฮอร์ริเคนแซนดี้ และในวันต่อมาตลาดก็ประกาศปิดทำการ แต่ประกาศว่า จะเปิดทำการในวันที่ 31 ต.ค.ตามเวลาในสหรัฐ
บนเกาะแมนฮัตตัน ไฟฟ้าได้ดับลงเพียงไม่นานหลังน้ำทะเลไหลทะลักเข้าท่วมถนนวอลล์สตรีท รถยนต์หลายคันถูกซัดลอยไปกับกระแสน้ำ ขณะที่ถนนเวสต์สตรีทก็กลายร่างเป็นแม่น้ำแทน อุโมงค์บรู๊คลิน-แบทเทอรีซึ่งเชื่อมระหว่างเกาะแมนฮัตตันและลองไอส์แลนด์ถูกน้ำท่วมปิดตั้งแต่ต้นจนถึงปลายอุโมงค์ ส่งผลให้การจราจรต้องปิดตัวลง นอกจากนี้ กระแสน้ำบางส่วนยังได้ทะลักเข้าท่วมทางรถไฟไต้ดินในบริเวณใต้แม่น้ำอีสท์ ริเวอร์
โจเซฟ เจ. โลห์ตา ผู้อำนวยการองค์การขนส่งระบุว่า พายุแซนดี้ได้สร้างความเสียหายที่รุนแรงที่สุดในรอบ 108 ปี ของระบบทางรถไฟใต้ดิน
ด้านไมเคิล บลูมเบิร์ก นายกเทศมนตรีนิวยอร์กระบุว่า แซนดี้เป็นพายุที่สร้างความเสียหายให้กับนิวยอร์กมากที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย
ทั้งนี้ พายุเฮอร์ริเคนแซนดี้มีความเร็วลมสูงสุดที่ศูนย์กลางพายุถึง 175 ไมล์ โดยพัดปกคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง 485 ไมล์ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า อาจจะเคลื่อนตัวต่อไปจนถึงในแคนาดา และยังอาจทำให้เกิดหิมะตกในบางพื้นที่
ธุรกิจและโรงเรียนหลายแห่งได้ปิดทำการเพื่อเตรียมตัวรับมือกับลมพายุ ขณะที่ถนนหลายสายและสะพานก็ปิดให้บริการเช่นเดียวกัน สายการบินต่างๆประกาศยกเลิกเที่ยวบินกว่า 10,300 เที่ยว ขณะที่คลองบางแห่งก็ถูกปิด
การจราจรได้ถูกตัดขาดลงหลังจากที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินระหว่างบอสตันและวอชิงตันหยุดให้บริการ ซึ่งรวมไปถึงเส้นทางรถไฟบนดินที่เชื่อมต่อระหว่างทั้งสองเมือง ขณะที่รัฐเดลาแวร์สั่งห้ามรถยนต์และรถบรรทุกใช้ถนนโดยไม่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนออกนอกบ้าน โดยผู้ว่าการรัฐระบุว่า “เราไม่ต้องการให้ประชาชนเดินทางไปทำงานแล้วกลับเข้าบ้านไม่ได้"
ในช่วงก่อนพลบค่ำ อิทธิพลลมพายุได้ส่งผลให้ไฟฟ้าดับและบ้านเรือนหลายพันหลังไม่มีไฟฟ้าใช้ ขณะที่โรงแรมหลายแห่งในนิวยอร์กระบุว่าลูกค้าจำนวน 634,000 รายไม่มีไฟฟ้าใช้
นอกจากนี้ อิทธิพลของลมพายุยังส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำอีสท์ ริเวอร์ เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์และได้เอ่อท่วมทางรถไฟและโรงไฟฟ้าใต้ดินในบริเวณใต้แม่น้ำ
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวว่า อิทธิพลของลมพายุส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันต้องสะดุดลง เนื่องจากการขนส่งอาจจะต้องสะดุดลงเป็นระยะเวลานาน โดยนอกจากน้ำท่วมแล้ว โอบามายังยอมรับว่า อาจเกิดไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ พร้อมกับได้กำชับให้บริษัทสาธารณูปโภคเร่งส่งพนักงานออกไปปฏิบัติการซ่อมแซม แต่ก็เตือนว่าการดำเนินการอาจจะล่าช้า
“เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินยังไม่สามารถซ่อมไฟฟ้าได้จนกว่าลมพายุจะอ่อนแรงลงในระดับหนึ่ง" โอบามากล่าว พร้อมกับเสริมว่า “อาจจะต้องให้ระยะเวลาหลายวัน"
สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งคาดว่า ความเสียหายอันเนื่องมาจากพายุเฮอร์ริเคนแซนดี้ ซึ่งเป็นพายุขนาดใหญ่ที่สุดที่พัดถล่มชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ อาจมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมบ้านเรือนและทางรถไฟใต้ดินในรัฐที่มีจำนวนประชากรหนาแน่นที่สุด
นักวิเคราะห์ระบุว่า มูลค่าความเสียหายของทรัพย์สินที่ทำประกันภัยอาจมีมูลค่าประมาณ 7-8 พันล้านดอลลาร์ และพายุแซนดี้อาจเป็น 1 ใน 3 พายุเฮอร์ริเคนที่สร้างความเสียหายให้กับชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่พายุไอรีนซึ่งพัดถล่มในปีที่ผ่านมาและพายุแอกเนสในปี 2515
แต่อย่างไรก็ดี ความเสียหายดังกล่าวยังนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับพายุเฮอร์ริเคนแคททรีนาซึ่งพัดถล่มเมืองนิวออรีนส์ในปี 2548 ซึ่งนับเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจสหรัฐมากที่สุด โดยมีมูลค่าความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ทำประกันภัยถึง 4.11 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ คาดว่าพายุแซนดี้อาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐลดลง 0.1-0.2% คิดเป็นมูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในไตรมาสที่ 4 อันเนื่องมาจากการลดค่าใช้จ่ายในด้านบริการของภาคครัวเรือน เช่น การใช้บริการที่ร้านอาหาร ส่งผลให้อัตราการขยายตัวสำหรับปีนี้อยู่ที่ระหว่าง 1-1.5% จากตัวเลขคาดการณ์ในช่วงก่อนหน้านี้ที่ 1.6%
นอกจากนี้ พายุแซนดี้อาจส่งผลให้ยอดค้าปลีกในช่วงเทศกาลจับจ่ายซึ่งกำลังจะมาถึงปรับตัวลดลง โดยคาดว่ายอดค้าปลีกของห้างสรรพสินค้าที่เปิดให้บริการไม่ต่ำกว่า 1 ปี (same-store) อาจลดลงมากถึง 3% ในเดือนพฤศจิกายน ในขณะที่ปริมาณลูกค้าที่ซื้อของในร้านอาจลดลง 40% ในเขตพื้นที่ที่โดนพายุพัดกระหน่ำ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22% ของยอดค้าปลีกของเดือน
สุดท้าย คอลัมน์ In Focus ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สหรัฐในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดทั้งขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือสูญเสียอันเนื่องมาจากอิทธิพลของลมพายุ และขอปิดท้ายด้วย 5 อันดับพายุเฮอร์ริเคนที่รุนแรงที่สุดที่พัดถล่มสหรัฐในอดีต
1. กัลเวสตัน (Galveston) 2433
พายุเฮอร์ริเคนกัลเวสตันพัดถล่มเกาะกัลเวสตันในรัฐเท็กซัสเมื่อปี 2433 ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 6,000 ราย (ประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรบนเกาะ) สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจเป็นมูลค่าถึง 1 แสนล้านดอลลาร์หลังปรับค่าเงินเฟ้อแล้ว
2. ไมอามี (Miami) 2469
พายุเฮอร์ริเคนไมอามีพัดถล่มรัฐไมอามีในปี 2469 และได้ทำลายอาคารเกือบทุกหลังในเขตใจกลางเมืองไมอามีด้วยคลื่นสูงถึง 15 ฟุต ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิต 400 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1.6 แสนล้านดอลลาร์หลังปรับค่าเงินเฟ้อ
3. แคททรีนา (Kattrina) 2548
พายุเฮอร์ริเคนแคททรีนาเคลื่อนตัวจากอ่าวเม็กซิโกเข้าพัดถล่มเมืองนิวออรีนส์ในปี 2548 ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตประมาณ 2,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายโดยตรง 1 แสนล้านดอลลาร์ และแคททรีนายังได้รับการจัดอันดับให้เป็นพายุที่สร้างความเสียหายที่รุนแรงที่สุดต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ
4. แอนดรูว์ (Andrew) 2535
พายุเฮอร์ริเคนแอนดรูว์พัดถล่มรัฐฟลอริดาในปี 2535 ด้วยความเร็วลมพายุ 140 ไมล์ต่อชัวโมงและคลื่นยักษ์สูง 17 ฟุต ซึ่งได้ทำลายบ้านเรือนกว่า 1 แสนหลังคาเรือนในเมืองไมอามี-เดด ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตทั้งสิ้น 26 คน
5. ลองไอส์แลนด์ เอ็กซ์เพรส (Long Island Express) 2481
พายุเฮอร์ริเคนลองไอส์แลนด์ เอ็กซ์เพรส นับเป็นพายุเฮอร์ริเคนที่รุนแรงที่สุดที่พัดถล่มชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐในปี 2481 ด้วยความเร็วลมพายุ 120 ไมล์ต่อชั่วโมงบวกกับคลื่นสูง 10 ฟุต โดยลมพายุได้เคลื่อนตัวเข้าพัดถล่มอย่างรวดเร็วในขณะที่ไม่มีการเตือนภัยจากเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้โรงภาพยนตร์ซึ่งมีผู้ชมภาพยนตร์ 21 คนข้างในถูกพัดออกไปไกลในทะเลถึง 2 ไมล์ และมีให้ประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 600 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 4 หมื่นล้านดอลลาร์หลังปรับอัตราเงินเฟ้อ