ส่วนสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศและขนถ่ายผ่านท่าเรือนิวยอร์ก และนิวเจอร์ซี่หยุดชะงัก แต่สินค้าไทยที่นำเข้าและขนถ่ายผ่านท่าเรือดังกล่าวมีปริมาณน้อยเพียง 11% ของการนำเข้าที่ท่าเรือทั้ง 2 แห่งนี้เท่านั้น
"ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยจะเป็นเรื่องการชะลอตัวด้านโลจิสติกส์ เช่น ระยะเวลาการขนส่งของสินค้าไปสหรัฐฯ และพิธีศุลกากรในการออกสินค้าที่ใช้เวลามากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการส่งมอบสินค้าที่ผู้นำเข้าจะต้องส่งมอบให้ลูกค้า/ร้านค้าปลีก หากท่าเรือในแถบชายฝั่งตะวันออกยังไม่สามารถเปิดทำการได้ ผู้ส่งออกไทยอาจต้องเปลี่ยนเส้นทางขนส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 20-25%ได้" นายบุญทรง กล่าว
โดยคาดว่าสินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอส่งมอบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ จะเป็นสินค้าทั่วๆ ไปที่ประชาชนจะจับจ่ายก่อนช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ เช่น เสื้อผ้า และเครื่องประดับ ส่วนสินค้าที่ใช้สำหรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ไม่น่ามีปัญหา เพราะผู้นำเข้าได้สั่งนำเข้าล่วงหน้าไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ภัยพิบัติในครั้งนี้คาดว่าจะทำให้ความต้องการสินค้าจำเป็นเพื่อยังชีพยามเกิดภัยพิบัติ เช่น ชุดอาหาร และอุปกรณ์จำเป็นยามฉุกเฉินเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับครัวเรือนและโรงเรียน รวมถึงสินค้าวัสดุก่อสร้าง เพื่อซ่อมแซมอาคาร ที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากพายุ จึงถือเป็นโอกาสของสินค้าไทยและผู้ผลิตไทยที่จะวางกลยุทธ์ในการผลิตสินค้ารองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น