ศูนย์วิจัยกสิกร คาด GDP ไตรมาส 3/55 โตต่ำกว่า 3.9% ส่งออก-ผลิตยังหดตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 1, 2012 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขจีดีพีของไทยในช่วงไตรมาส 3/55 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)จะประกาศในวันที่ 19 พ.ย.55 จะต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นที่ร้อยละ 3.9(YoY) ซึ่งเป็นการย้ำภาพการชะลอตัวจากไตรมาส 2/55 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 (YoY) ท่ามกลางความซบเซาของเศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาคของโลก

เนื่องจากโมเมนตัมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แผ่วลงในหลายภาคส่วน ทั้งการส่งออกที่หดตัวร้อยละ 2.4 (QoQ) การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ 2.4 (QoQ)การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2(QoQ) และการลงทุนภาคเอกชน หดตัวร้อยละ 2.3 (QoQ) ท่ามกลางผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการสิ้นสุดลงของกิจกรรมฟื้นฟูหลังน้ำลด ซึ่งเป็นการย้ำภาพการชะลอตัวจากไตรมาส 2/55 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 (YoY)

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนก.ย.55 ยังคงย้ำภาพผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีต่อการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยให้ปรากฎชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านการหดตัวที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกัน แม้ภาคการใช้จ่ายในประเทศจะยังคงขยายตัวได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ระดับของรายจ่ายทั้งเพื่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่ไม่สะท้อนภาพการเร่งตัวขึ้นเหมือนในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านั้น ยกเว้นการใช้จ่ายของภาคเอกชนบางรายการ อาทิ ยอดขายรถยนต์ ที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการของรัฐบาล ก็อาจเป็นสัญญาณว่ากิจกรรมการใช้จ่ายภายในประเทศหลายรายการที่เคยได้รับแรงหนุนจากตามซ่อมแซม-ฟื้นฟูในช่วงหลังน้ำลดน่าจะมีภาพที่อ่อนแรงลง

สัญญาณที่คลุมเครือของทิศทางเศรษฐกิจโลก ทำให้แรงกดดันที่ภาคการส่งออกของไทยได้รับนั้น ถูกส่งต่อโดยตรงมาที่การผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับระดับในเดือนก่อนหน้า ภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงร้อยละ 0.4 (MoM) และร้อยละ 4.8 (MoM) ตามลำดับ

หากแยกพิจารณาเป็นรายหมวดสินค้า จะพบว่า การผลิตในหมวดอุตสาหกรรมที่เน้นเพื่อการส่งออกทรุดตัวลงถึงร้อยละ 9.4 (MoM) เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อีกร้อยละ 0.1 (MoM) นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าในหมวดเกษตรยังคงหดตัวลงต่อเนื่องอีกร้อยละ 12.2 (MoM) จากปัญหาความสามารถทางการแข่งขัน โดยเฉพาะข้าว และความซบเซาของอุปสงค์โลก อาทิ ยางพารา อาหารแปรรูป อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ ภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ร้อยละ 0.1 (YoY) และร้อยละ 13.7 (YoY) ในเดือนก.ย.55 หลังจากที่หดตัวร้อยละ 5.1 (YoY) และร้อยละ 11.2 (YoY) ในเดือนส.ค.55

"สถานการณ์ล่าสุดที่สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนก.ย. 2555 ยังคงย้ำว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคส่วนที่เชื่อมโยงกับทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศนั้น มีภาพที่แตกต่างไปจากกิจกรรมในภาคการส่งออกและภาคการผลิต ที่ถูกปกคลุมไปด้วยความเปราะบางของเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

อย่างไรก็ดี ประเมินว่า สัญญาณเชิงบวกที่เริ่มปะปนเข้ามาจากเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างประเทศในช่วงนี้ อาจทำให้คาดหวังได้ว่า ภาวะที่เลวร้ายที่สุดของกิจกรรมในภาคการผลิตในหลายๆ ประเทศในเอเชีย น่าจะผ่านพ้นไปแล้ว และสัญญาณเสถียรภาพน่าจะเริ่มปรากฎขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

"ทิศทางในช่วงหลังจากนี้ ก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจใน-ต่างประเทศ ตลอดจนความต่อเนื่องในการประคองบทบาทของภาครัฐในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับชดเชยผลกระทบจากความเปราะบางของตัวแปรในต่างประเทศที่ยากจะควบคุม" เอกสาร ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ