ประกอบกับ แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่เกิดปัญหาภายนอกประเทศ แต่ปัจจัยสำคัญคือกำลังซื้อภายในประเทศจากการบริโภค ซึ่งนโยบายของรัฐบาลเน้นในเรื่องของการเพิ่มกำลังซื้อของภาคประชาชน ต้องยอมรับว่าสภาพแรงงานของไทยมีคุณภาพดีจึงมีเหตุอันควรที่จะปรับขึ้นค่าแรง และกำลังซื้อในภาคเกษตรที่เข้ามาสู่อุตสหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า
ส่วนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทยคือภาคการส่งออก แต่ก็ยังมีสินค้าบางกลุ่มที่ส่งออกไปได้ดี อย่างสินค้าที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ หรือสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบสินค้า
นายอาคม ยังกล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้นความเสียหายจากพายุแซนดี้ที่มีต่อสหรัฐราว 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ตนเองมองว่าน่าจะสูงถึง 4.5 หมื่นล้านเหรียญ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของความเสียหายจากพายุแคทลีน่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดเหตุภัยพิบัติใดในโลกสิ่งที่จะตามมาคือ การฟื้นฟู และการสร้างเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเดือนกันยายนที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯดีขึ้นมาบ้างแล้ว แต่เพิ่งมาเจอพายุครั้งใหญ่ ขณะที่จีนก็ดีขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้น สำหรับปัญหาของกรีซและสเปนเริ่มกลับมาอยู่ในกรอบ ฉะนั้น ถ้าไม่นับ QE3 ที่ออกมาเดือนกันยายน อานิสงค์จากสหรัฐฯที่ต้องการจะกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นฟู เชื่อว่าจะมีผลดีมายังไทย
นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจจีนก็ยังน่ากังวล เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาน่าผิดหวัง และเศรษฐกิจจีนมีการชะลอตัวลงมาค่อนข้างมาก แต่จีนจะมีการเลือกผู้นำใหม่ ซึ่งอาจจะมีโครงการใหม่ๆ ออกมา และอาจทำให้จีนพ้นสภาพช็อก ซึ่งหากพ้นสภาพไปได้จีนจะเป็นตัวสำคัญที่จะผลักดันเศรษฐกิจโลกได้ดีขึ้น
ขณะที่การเตรียมพร้อมเพื่อรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)นั้น นายอาคม กล่าวว่า หากเศรษฐกิจในโลกมีความผันผวนเพียงใด สิ่งที่ต้องทำคือ การผูกเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านและในประเทศอาเซียน เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอก แต่ก็จำเป็นต้องสร้างเศรษฐกิจของไทยให้มั่นคงก่อน ซึ่งในอนาคตไทยจำเป็นต้องมีการเจริญเติบโตที่อยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันได้ ในเรื่องของ Value Creation 100% และสินค้าในกลุ่มที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้วต้องทำให้ต่อยอดออกไป ซึ่งกลุ่มที่ยังไม่ค่อยแข็งแรงก็จะมาเติมเต็ม รวมถึงมีแรงงานที่มีประสิทธิภาพด้วย
ปัจจัยที่สองคือ การเติบโตต้องกระจายและลดความเลื่อมล้ำ และจับกระแสของความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม(GREEN)และความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา(R&D) ซึ่งในการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้นจะต้องพัฒนา 1.ด้านบุคคลากรหรือคุณภาพของคนที่จะต้องพัฒนาให้เหมาะกับงานและทันเพื่อนบ้านในอาเซียน ไม่เช่นนั้นจะเกิดการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานต่างด้าว 2. การเปิดเสรีทางด้านการลงทุนเพราะจะมีเงื่อนไขมากขึ้น เนื่องจากต้องยอมให้คนในอาเซียนเข้ามาลงทุนในประเทศและถือหุ้นในส่วนที่มากขึ้น 3. สินค้าที่จะแข่งขันกับอาเซียนได้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เราแข็งแกร่ง ทั้งรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ 4. ตัวชี้วัดที่จะแข่งขันได้หรือไม่นั้นอยู่ที่เทคโนโลยีที่มาจากวิทยาศาสตร์
ด้านนายเจน นำชัยศิริ รองประธาน สภาอุตสาหรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การมองทิศทางของอุตสาหกรรมไทยนั้นดัชนีความเชื่อมั่นทางด้านอุตสาหกรรมที่ได้มีการสำรวจมาตอนนี้ยังมีตัวเลขที่ต่ำกว่า 100 ซึ่งแสดงว่ายังไม่มีความเชื่อมั่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ผูกอยู่กับการส่งออกไปในทวีปยุโรป
ทั้งนี้อุตสาหกรรมยานยนตร์ในประเทศไทย ได้รับอานิสงค์จากนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องของโครงการรถคันแรกที่คืนภาษีให้กับประชาชน จึงสามารถแสดงตัวเลขได้ชัดเจนว่ามีการเจริญเติบโตมาก ประมาณ 30 % ซึ่งอุตสาหกรรมตอนนี้มีความแข็งแกร่งมากและสามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและสามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพที่เกิดความเสียหายได้
ส่วนเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายน่าจะเติบโตได้ดีตามที่คาดการณ์ไว้ และดีกว่าปีก่อน เนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ทำให้ภาพรวมทั้งปีน่าจะเติบโตได้ในระดับ 5.5-6%
"คงจะตรงกับตัวเลขที่คาดการณ์กันไว้ เพราะในช่วงไตรมาสสุดท้ายการส่งมอบสินค้าส่วนใหญ่เป็นออร์เดอร์ที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว อย่างสินค้าที่ต้อนรับช่วงเทศกาล และประเทศยุโรปมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงเป็นสัญญาณที่ดี"นายเจน กล่าว
ขณะที่ส่วนภาวะเศรษฐกิจในปี 56 ปัจจัยสำคัญอยู่ที่เศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีผ่านไปน่าจะทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้เกิดพายุแซนดี้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะสะดุดหรือเกิดความผันผวน ประชาชนอาจตกงานมากขึ้น
ดังนั้น อาจจะทำให้รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจต่ออายุมาตรการด้านการคลังที่กำลังจะสิ้นสุดในปีนี้ออกไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นและมีการหมุนต่อไปได้ แต่หากไม่มีการต่ออายุมาตรการดังกล่าวก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก