ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 69.8 เพิ่มขึ้นจาก 68.9 ในเดือน ก.ย.55 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 95.3 เพิ่มขึ้นจาก 94.8 ในเดือน ก.ย.55
ปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีในเดือนนี้ ได้แก่ ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง ภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือนก.ย.พบว่าเกินดุลการค้า 1,152 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 55 ไว้ที่ 5.7%, กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นต้น
ด้านปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองหลังกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม และความไม่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความกังวลปัญหาค่าครองชีพ และกังวลว่าจะถูกเลิกจ้างหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานทั่วประเทศ
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ต.ค.55 ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ประกอบกับภาวการณ์ท่องเที่ยวที่ดี สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังมีการใช้จ่ายปกติ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นหลังจากสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายชิงปริมาณ(QE)รอบที่ 3
อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทยที่เติบโตต่ำกว่าคาดการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ประกอบกับความกังวลที่มากขึ้นในเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง แต่ผู้บริโภคก็มีความรู้สึกในเชิงบวกต่อสถานการณ์ต่างๆ ในเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจธุรกิจ คาดว่า การบริโภคของภาคประชาชนในปัจจุบันจะทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อยในไตรมาส 4/55 เนื่องจากประชาชนยังคงมีความวิตกกังวล และรอดูสถานการณ์เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงทางการเมือง และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตลอดจนค่าครองชีพที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ การปรับตัวดีขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะฟื้นตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในไตรมาส 4/55 ขึ้นอยู่กับการเร่งรัดการใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณและนโยบายการเงินผ่านการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงพยุงที่สำคัญไม่ให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลกด้วย
“ภาพรวมการจับจ่ายใช้สอยในไตรมาส 4 ปีนี้ น่าจะขยายตัวได้ การบริโภคคาดว่าจะโต 5% ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 น่าจะโตได้ถึง 13-14% เป็นอย่างน้อย...ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น ถ้าการเมืองไม่พลิกผัน ในระยะสั้นดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังเป็นขาขึ้น แต่ต้องรอดูการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ด้วย"นายธนวรรธน์ กล่าว
ศูนย์พยากรณ์ฯ ประเมินว่าในปีหน้าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกเข้ามามากขึ้น หลังจากเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว ซึ่งมุมมองที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ยังคงให้น้ำหนักกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการส่งออกมากกว่าน้ำหนักทางด้านการเมืองในประเทศ เนื่องจากรัฐบาลยังมีเสถียรภาพที่เข้มแข็ง และถือว่ามีคะแนนนิยมในระดับสูง
“ตอนนี้เรายังไม่มีเหตุผลที่จะยกระดับน้ำหนักทางการเมืองให้สูงขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยยังคงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกจากการส่งออกเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นน้ำหนักทางด้านเศรษฐกิจยังสำคัญกว่า"นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า วันที่ 8 พ.ย.55 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ จะแถลงปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 55 อีกครั้ง คาดว่าปรับลดลงเล็กน้อยจากประมาณการในปัจจุบันที่ 5.6%