สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการกำหนดให้ในกรณีที่สถาบันการเงินใดประสบภาวะวิกฤติทางการเงินอันอาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ซึ่ง ธปท.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน หากเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูสถาบันการเงินนั้น และเป็นกรณีที่ได้มีการดำเนินการตามมาตรา 42 แห่งพ.ร.บ.นี้แล้ว ให้มีอำนาจเสนอแนะแผน แนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินนั้นต่อคณะกรรมการจัดการกองทุน โดยต้องแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการตามแผน แนวทาง และวิธีการดังกล่าวมีประสิทธิผลสูงสุดและเป็นไปอย่างเหมาะสม เมื่อคณะกรรมการจัดการกองทุนพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย ให้เสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วให้กองทุนมีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อแก้ไขฟื้นฟูสถาบันการเงินตามความจำเป็นเร่งด่วน 1.ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินโดยมีหรือไม่มีประกันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี 2.ซื้อหรือเข้าถือหุ้นในสถาบันการเงิน และ 3. ซื้อ, ซื้อลด หรือรับช่วยซื้อลดตราสารแสดงสิทธิในหนี้ หรือรับโอนสิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงิน