"หัวใจสำคัญ คือ เปลี่ยนการขนส่งทางถนนเป็นราง พัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาท่าเรือและท่าอากาศยาน เพราะเป็นประตูเชื่อมโลก หากไม่มีการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง อีก 20 ปีข้างหน้าจะไม่มีใครมาลงทุนในประเทศไทย เพราะต้นทุนการขนส่งแพงมาก ส่วนแนวทางการทำงานร่วมกันนั้น ขอให้ผู้บริหารทำงานนำไปพร้อมกัน หากไม่ไหวให้ตามเพื่อเป็นหน่วยสนับสนุน แต่หากไม่นำและไม่ตาม ให้หลีกไป เพราะจะทำให้งานช้า สำหรับหลักบริหารนั้น เน้นโปร่งใส รอบคอบ ยุติธรรม หากพบมีการซื้อตำแหน่งผมไม่เอาไว้แน่" นายชัชชาติ กล่าว
สำหรับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.หรือ AOT) จะต้องเร่งขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามแผนการพัฒนาท่าอากาศยานระยะที่ 3 และ 4 เพื่อรองรับการเติบโต ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จะต้องเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ 2 ภายในต้นปีหน้า และภายในปีหน้าคาดว่าจะสามารถประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ท่าอากาศยานดอนเมืองได้ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพพนักงานให้มากขึ้น และลดการจ้างแรงงานจากภายนอกลง
ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)นั้น ต้องเปลี่ยนอย่างเดียว ปัญหาที่ผ่านมามีมาก แต่เป็นเพราะหน่วยงานถูกละเลยมานาน ยุทธศาสตร์ คือ สร้างรถไฟความเร็วสูงต่อจากโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์ไปยังระยอง จัดซื้อหัวรถจักรและขบวนรถ สร้างทางคู่ระยะเร่งด่วน ช่วงฉะเชิงเทรา-แก่งคอย
ขณะที่ค่าโดยสารรถไฟที่จะขอปรับขึ้นราคาในปีหน้านั้น คงต้องชะลอไปก่อน เพราะหากยังไม่มีการพัฒนาบริการ ก็ไม่น่าจะปรับราคา สำหรับโครงการรถไฟฟรีและรถเมล์ฟรีนั้น น่าจะเดินหน้าต่อไปแต่รูปแบบอาจต้องปรับเพื่อให้การอุดหนุนตรงตามเป้าหมายที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยจริงๆ