ทั่วโลกต้องจับตาดูนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคนใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศอย่างใกล้ชิดว่าจะมีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร เช่น การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก ผ่านนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน(QE3) ซึ่งทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนา และอาจก่อให้เกิดเงินเฟ้อและภาวะฟองสบู่ได้ รวมถึงจับตานโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่มีการกีดกันทางการค้าจนอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ต้องมีบทบาทในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป โดยมองว่านโยบายการเงินแบบเข้มงวดที่ยุโรปใช้อยู่จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจตกต่ำมากขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ อาจเข้ามามีบทบาทในรูปของการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น
นายศุภชัย ยังแสดงความเห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพราะจะช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่ตกต่ำ แต่จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าประเทศ พร้อมทั้งกระตุ้นให้มีการลงทุนในระยะยาวมากขึ้น เนื่องจากการลงทุนระยะสั้นมีความไม่แน่นอน
ส่วนของการมาตรการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศในปีหน้านั้น รัฐบาลควรพิจารณาต้นทุนของการปรับขึ้นค่าจ้างว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมหรือไม่ เพราะจากข้อมูลที่มีอยู่พบว่ากว่า 50% ของแรงงานในประเทศเป็นแรงงานนอกระบบ ทั้งนี้อยากเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เข้ามามีบทบาทในการวางแผนและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับความต้องการของตลาด