ทั้งนี้ กทค.จะเชิญเอกชนมาร่วมหารือในช่วงสัปดาห์หน้า และผู้ประกอบการต้องส่งแผนลงทุน เช่น เงินลงทุน, ค่าชุมสาย, ระบบเชื่อมโยงต่างๆ ให้ กทค.ก่อนวันที่ 23 พ.ย.นี้
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ในการหารือร่วมกับเอกชนจะเป็นเพียงการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงชั่วคราวสำหรับการให้บริการเสียง(Voice) และค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (IC) โดยคาดว่าจะได้ราคาขั้นสูงชั่วคราวช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งปัจจุบัน กสทช.ได้กำหนดกำกับเฉพาะผู้ให้บริการ 2 รายใหญ่อย่าง ADVANCและ DTAC ที่ให้บริการ 2 จี ที่นาทีละ 99 สต.
อย่างไรก็ตาม จากกระแสที่มีบริษัทเอกชนออกมาระบุว่า อัตราค่าบริการจะไม่ถูกกว่าปัจจุบันแต่จะสู้กันที่กลไกการแข่งขันทางการตลาดนั้น ในความเห็นของตนแล้วมองว่าเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเอกชนไม่ให้ความร่วมมือ อีกทั้งเชื่อว่าเอกชนจะรู้บทบาทและหน้าที่ของตนเองอยู่แล้ว
ทั้งนี้ กทค.จะยังไม่มีการกำหนดอัตราขั้นสูงของการให้บริการข้อมูล (Data) เนื่องจากเป็นเรื่องที่คำนวณยากและไม่เคยคิดมาก่อน จึงต้องมีความระมัดระวังในการออกข้อกำหนด ซึ่งต้องทราบต้นทุนที่ชัดเจนของ Data แต่กทค.จะพยายามดำเนินการให้ทันกับประกาศราคาขั้นสูงตัวจริงที่จะต้องออกประกาศ
อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดอัตราขั้นสูงชั่วคราวเป็นการทำความเข้าใจเบื้องต้นให้ผู้ประกอบการและประชาชนเข้าใจ ซึ่งการออกประกาศจริงๆ จะต้องใช้ระยะเวลานานทั้งการเปิดฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) การประกาศลงราชกิจานุเบกษาที่ต้องใช้ระยะเวลาหลายขั้นตอน และประกาศราคาอัตราขั้นสูงตัวจริงอาจจะยังคงราคาเดิมของตัวชั่วคราวหรืออาจจะลดน้อยลงกว่านี้ก็ได้
"ราคาที่เราจะกำหนดต้องดูต้นทุน ซึ่งปัจจุบันเรายังไม่ได้ดูข้อมูลที่แท้จริง ซึ่งเราคิดเองทำเอง ถ้ากำหนดอัตราขั้นสูง และตัวเลขที่ กสทช.จะกำหนดคงไม่ใช้ตัวเลขที่เสี่ยงมากสำหรับผู้ลงทุน ซึ่งต้องให้เวลาคณะทำงานได้ดำเนินการ ยืนยันว่ากรอบการให้ใบอนุญาตจะยังคงทำเดินการตามประกาศที่ออกมาแล้ว และถือว่าเป็นกฏหมายที่ลงบอร์ดกสทช.และประกาศลงราชกจจานุเบกษา แต่จะระบุไม่ได้ว่าจะสามารถให้ใบอนุญาตเอกชนได้วันไหน แต่การกำหนดอัตราขั้นสูงชั่วคราวจะต้องทำให้ทันกับการให้ใบอนุญาต ในกรอบระยะเวลา 90 วัน หลังจากที่ได้รับรองผลกรประมูล คือ วันที่ 18 ม.ค.56 ดังนั้นจึงต้องดำเนินการเป็นคู่ขนานได้ด้วย" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว
แหล่งข่าวจาก กสทช.กล่าวว่า ราคาค่าบริการ 3 จีที่ กสทช.จะกำหนดมานั้น มั่นใจว่าจะถูกกว่าค่าบริการ 2จี ลงด้วยเหตผล 2 ประการคือ 1.การที่เอกชนไม่ต้องเสียค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายกับ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ที่ปัจจุบันต้องจ่ายส่วนแบ่งระดับ 20% ของรายได้แต่การให้บริการไลเซ่นส์ใบใหม่นี้จะจ่ายค่าส่วนแบ่งใบอนุญาตอยู่ที่ระหว่าง 6%
และ 2.เทคโนโลยี 3 จีเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเทคโนโลยีรุ่นเก่า ทั้งนี้อัตราค่าบริการขั้นสูงจะลดลงมากน้อยแค่ไหนก็จะขึ้นอยู่กับกลไกลทางการตลาดด้วย อย่างไรก็ตาม แม้กทค.จะออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวแต่ราคาก็ยังสูงกว่าราคาตลาดที่เรียกเก็บในปัจจุบันเฉลี่ยนาทีละ 76 สต. ขณะที่ค่าบริการ Data นั้น กทค.ยังไม่ได้กำหนด แต่ต้องการให้ถูกลงจากเดิม 20% เช่นกัน โดยปัจจุบันบริการรายเดือน Data อยู่ที่ 199-899 บาท