ผู้ทรงคุณวุฒิแนะภาครัฐเป็นหลักส่งเสริมสร้างนวัตกรรม-ต่อยอดเพิ่มมูลค่าประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 6, 2012 18:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ศาสตราพิชาน อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวในการสัมมนา"พลิกเส้นทางพัฒนา..สถาปานาความมั่งคั่งใหม่ให้ประเทศ"ว่า รัฐบาลควรจะส่งเสริมการพัฒนาด้านนวัตกรรมด้วยการทำวิจัยและพัฒนา เนื่องจากเอกชนและสถานศึกษาไม่สามารถทำได้ตามลำพัง เพราะการสร้างนวัตกรรมจะเป็นการยกระดับประเทศไทยที่มีเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับกลางให้สามารถเคลื่อนไปข้างหน้าได้

ขณะนี้ประเทศไทยยังมีข้อด้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน อย่างเช่นมาเลเซีย แม้ดูเผิน ๆ จะด้อยกว่าในบางเรื่อง โดยเฉพาะขนาดของตลาดและขนาดของเศรษฐกิจที่เล็กกว่าไทย แต่สถาบันการเงินและภาพรวมเศรษฐกิจดีกว่าไทย รวมทั้งการคอรัปชั่นน้อยกว่าไทย

ศ.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า อุปสรรคของการเพิ่มมูลค่าในประเทศไทยเกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างภาควิชาการและภาคเอกชน โดยที่งานวิจัยต่างๆจากภาควิชาการไม่สามารถต่อยอดนำไปพัฒนาได้ รวมทั้งขาดบุคลากรที่ตรงตามกับความต้องการ โดยผู้ที่จบมาในสาขาที่เรียนจากสถาบันการศึกษาไม่ได้ทำงานตรงสายอาชีพ รวมทั้งขาดการผลิตนวัตกรรมเอง โดยไม่มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

ขณะที่ ศ.กิตติคุณ คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเชื่อมโยงระหว่างภาควิชาการและภาคเอกชน เป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากสถาบันการศึกษามีเป้าหมายในการผลิตบุคลากรออกมาให้มีความเก่ง ฉลาด และเป็นคนดี โดยมีการปรับการเรียนการสอน ทำให้สามารถมีปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว สร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพออกมา แต่ผลงานวิจัยนั้นไม่สามารถที่จะนำไปต่อยอดได้ เนื่องจากภาคเอกชนไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ และขาดการร่วมมือจากเอกชนในบางครั้ง

ดังนั้น ทั้งภาควิชาการและภาคเอกชนจึงต้องร่วมมือกันนำผลงานที่ได้จากการวิจัยนำไปต่อยอด ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และต้องใช้ความรู้ๆในหลายๆด้านมาผสานเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า สำหรับธุรกิจ SMEs การวิจัยทำได้ยาก เพราะใช้เงินทุนสูง แต่การพัฒนาต่อยอดสามารถทำได้อย่างดี ไม่เหมือนกับบริษัทใหญ่ๆที่มีเงินทุนในการทำวิจัยและพัฒนาไปพร้อมๆกันได้ดีกว่า ดังนั้น รัฐบาลและผู้ประกอบการรายใหญ่จึงควรเข้ามาช่วยธุรกิจ SMEs ในการพัฒนาเพื่อนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาใช้ให้เกิดมูลค่าเพิ่มในธุรกิจ

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด มองว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส และมองว่าหากมีการเตรียมพร้อมในตัวบุคคลากรและความสามารถของแรงงานจะทำให้เรามีโอกาสใน AEC มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมองว่ามีการพัฒนาบุคคลากรที่น้อยมาก หากไม่มีการพัฒนาให้มากกว่านี้จะทำให้เป็นการเสียเปรียบหากเกิด AEC

ส่วนนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ มองว่า เอกชนพยายามเน้นการพัฒนาตนเองมากเพื่อแข่งขันในตลาด แต่ในปัจจุบันการบริหารจัดการภาครัฐทำให้เอกชนลำบากมาก เพราะมีเรื่องของการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ทำให้เอกชนมีค่าใช้จ่ายที่สูงในการส่งออกและการไปลงทุนนอกประเทศ

อย่างไรก็ตาม มองว่าในปัจจุบันประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่ม AEC ด้วยกันแล้วยังมีความแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นในหลายด้าน แต่อยากให้ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนแบบเป็นรูปธรรมในการไปลงทุนต่างประเทศเหมือนกับประเทศอื่นๆในอาเซียนที่มีการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ประเทศอื่นใน AEC สามารถไปลงทุนนอกประเทศได้มากกว่าไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ