หากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสสามารถตกลงกันได้โดยเร็วในประเด็นความเสี่ยง Fiscal Cliff และการปรับเพิ่มเพดานหนี้ ก็คาดว่า สินทรัพย์เสี่ยงน่าจะได้รับแรงหนุนจากความต่อเนื่องของการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในขณะที่ โมเมนตัมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่น่าจะประคองตัวได้ในช่วงปีข้างหน้า ก็น่าจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชียในช่วงปี 2556 ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ขั้นตอนการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปของร่างกฎหมายขยายเวลาลดภาษีเงินได้ การวางแนวทางการปรับลดงบประมาณ และการขยับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ น่าจะต้องใช้เวลา ซึ่งอาจจะยาวนานกว่าช่วงการประชุมสภาคองเกรสระหว่างสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน-กลางเดือนธันวาคม 2555 นี้
ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์พลิกผันจากตัวแปร Fiscal Cliff ช่วงรอยต่อข้ามไปยังปี 2556 ก็มีความเป็นไปได้ที่สภาคองเกรสและทำเนียบขาวจะมีการต่อรองขยายเวลามาตรการภาษีและอื่นๆ ที่กำลังจะหมดอายุลงในช่วงสิ้นปี 2555 นี้ไปช่วงสั้นๆ ระยะหนึ่ง เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของสหรัฐฯ มีเวลาในการร่างตัวกฎหมายและพิจารณารายละเอียด เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันสำหรับแผนการขยายเวลาการลดภาษีและมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
การดำเนินการดังกล่าวทำให้แรงกดดันต่อค่าเงินหยวนของจีนและผลกระทบทางอ้อมต่อสกุลเงินเอเชียน่าจะอยู่ในกรอบที่จำกัด โดยสหรัฐฯ น่าเลี่ยงการกล่าวหาจีนโดยตรงในประเด็นควบคุมความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน ขณะที่ความเสี่ยงที่จะเกิดข้อพิพาททางการค้าอย่างรุนแรงระหว่างจีนและสหรัฐฯก็น่าจะลดน้อยลงด้วยเช่นกัน
"นับเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า แนวนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายการเงินและความเป็นอิสระในการพิจารณาจุดยืนเชิงนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉุกละหุกด้วยตัวแปรที่มาจากแรงกดดันทางการเมือง โดยเฟดน่าที่จะสามารถดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3) อย่างต่อเนื่องในช่วง 6-9 เดือนข้างหน้าเป็นอย่างน้อย" เอกสารศูนย์วิจัยฯ ระบุ
ด้านนายอำพล โพธิ์โลหะกุล ประธานบริหาร บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า โอกาสที่นายบารัค โอบาม่า จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 มีค่อนข้างสูงในขณะนี้ ซึ่งเป็นผลดีต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ ทำให้นโยบายต่างๆที่รัฐบาลภายใต้แกนนำของโอบาม่าในสมัยที่ผ่านมาสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเน้นแก้ปัญหาการว่างงาน ทำให้การจ้างงานมีเพิ่มมากขึ้น ส่วนปัญหา Fiscal Cliff นั้นมองว่าประธานาธิบดีคนเดิมน่าจะแก้ปัญหาได้ดี และคาดการณ์ไว้ว่าปี 56 เศรษฐกิจของสหรัฐน่าจะดีขึ้น
น.ส.มนธ์สินี กีรติไกรนนท์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลกกล่าวว่า การที่นายบารัค โอบามาได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกาอีกรอบ น่าจะเป็นที่พอใจของประชาคมอาเซียน เนื่องจากที่ผ่านมานายบารัค โอบามา ถือว่าเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนเดียวที่ให้ความสำคัญกับประชาคมอาเซียน มีนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับประเทศในแถบภูมิภาคเอเซียมาโดยตลอด โดยล่าสุดได้มีการออกแนวทางการปรับความสมดุลในเอเชีย (Rebalancing Strategy) ซึ่งทำให้ประชาคมอาเซียนลดความกังวลใจในเรื่องข้อขัดแย้งและการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนมายังภูมิภาคนี้
ในขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว โอบามามีความเป็นกลางในเรื่องทัศนคติที่มีต่อชนชาติมุสลิม ส่งผลให้อนาคตความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สามารถพัฒนาต่อไปได้ด้วยดี และที่สำคัญคือ โอบามาได้ตอบตกลงไว้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งว่าจะเข้าร่วมในการประชุม East Asiro Summit (EAS) ครั้งที่ 21 ที่กรุงพนมเปญ ในวันที่ 18-20 พ.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นการดีที่โอบามายังดำรงตำแหน่งอยู่ เพราะในทางกลับกัน หาก รอมนี่ย์ ได้รับตำแหน่ง คงไม่สามารถมาร่วมงานนี้ได้ เนื่องจากต้องมีภารกิจมากมายในการแต่งตั้งคณะทำงาน ดังนั้น ประชาคมอาเซียนจึงใจจดจ่อรอคอยการเดินทางมากรุงพนมเปญของโอบามาครั้งนี้ ในขณะที่ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ก็รอคอยการแวะมาเยี่ยมเยือนของโอบามาและทีมงานในทริปนี้เช่นกัน
"การที่โอบามาได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีครั้งที่ 2 ในครั้งนี้ ส่งผลดีต่อประเทศไทยและประชาคมอาเซียนอย่างแน่นอน...ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐอเมริกามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยวัดจากค่าความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของ GDP ประเทศไทย เมื่อเทียบกับการเติบโตของ GDP สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีค่าความสัมพันธ์สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้น" น.ส.มนธ์สินี กล่าว