“กฎหมายฉบับใหม่นี้ ได้ผ่านการพิจารณาของพล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีประเทศพม่าแล้ว จึงคาดการณ์กันว่า รัฐบาลพม่าจะเปิดเผยกฎหมายดังกล่าวสู่สาธารณะได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง พร้อมเป็นหน่วยงานติดตามนำกฎหมายฉบับใหม่มาเผยแพร่สู่นักธุรกิจไทยต่อไป"นางศรีรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ กรมฯมีความเห็นว่า ควรมองการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวว่าเป็นโอกาสมากกว่าการมองในแง่ลบ นักลงทุนไทยควรเร่งเข้าไปศึกษาหาลู่ทางในการลงทุน เพราะหากรอให้กฎหมายมีความชัดเจน ประเทศที่จะได้เปรียบในการลงทุน อาจไม่ใช่นักลงทุนไทย แต่เป็นนักลงทุนรายใหญ่จากประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศที่มีทุนสูงกว่าไทย
สิ่งที่นักธุรกิจไทยจะต้องคำนึงถึงมากกว่าตัวกฎหมายคือ สาธารณูปโภคพื้นฐานของพม่า โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิต ประเทศไทยอาจต้องวางกลยุทธ์การเข้าไปลงทุนในพม่า โดยรวมกลุ่มกันมากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เกี่ยวกับแนวทางการบูรณาการการทำงาน เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนได้อย่างครบวงจรมากขึ้นต่อไป
นับตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2555 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีการผ่อนปรนมาตราการคว่ำบาตร โดยประกาศอนุญาตให้บริษัทเอกชนสหรัฐฯ สามารถเข้าไปลงทุนในพม่า สามารถทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และกู้ยืมเงินจากตลาดเครดิตทั่วโลก ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลพม่ามีการปฎิรูปการเมืองสู่ระบบประชาธิปไตย อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลสหรัฐฯ จึงยังไม่ยกเลิกกฎหมายคว่ำบาตรต่อพม่า อย่างไรก็ตามการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรนี้ ได้ส่งผลให้พม่าเป็นที่สนใจของนักธุรกิจทั่วโลก
การเปิดประเทศอีกครั้งของพม่าได้สร้างแรงดึงดูดให้นักธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลก เดินทางไปแสวงหาโอกาสทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ตั้นปี 2544 โดยเฉพาะความคืบหน้าของการแก้ไข กฎหมายการค้าการลงทุนเพื่อให้เอื้อต่อธุรกิจต่างชาติ และการได้รับการผ่อนปรนมาตรการค่ำบาตร ทำให้บรรยากาศสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของพม่าถูกยกระดับสูงขึ้น ด้วยมูลค่าการลงทุนจากต่าง ประเทศ (ปี 2531 -เมษายน 2555) 40,699 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนเป็นประเทศที่มีการลงทุนมากที่สุด 20,268 ล้านเหรียญสหรัฐ(49.8 %) รองลงมาคือ ไทย 9,564 ล้านเหรียญสหรัฐ (23.5 %) และเกาหลีใต้ 2,930 ล้านเหรียญสหรัฐ (7.2 %) ตามลำดับ