สบน.ตั้ง BBL-ดอยซ์แบงก์-HSBC เป็นตัวแทนขาย Amortized Bond ธ.ค.55

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 8, 2012 09:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน. ได้คัดเลือกให้ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารดอยซ์แบงก์ และธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นตัวแทนร่วมจำหน่าย Amortized Bond (Joint — Lead Managers for Amortized Bond) เพื่อทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งประเมินความต้องการของนักลงทุนและอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ตลอดจนร่วมกับ สบน. ในการกำหนดกลยุทธ์การจำหน่ายเพื่อสนับสนุนให้การออก Amortized Bond

Amortized Bond เป็นตราสารหนี้ชนิดใหม่ที่กระทรวงการคลังไม่เคยออกมาก่อน จึงไม่มีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และเนื่องจาก สบน. กำหนดให้ Amortized Bond มีอายุยาวถึง 25 ปี และมีการทยอยชำระคืนเงินต้นในช่วง 5 ปีสุดท้าย ปีละเท่าๆ กัน (ร้อยละ 20ของเงินต้นต่อปี) กำหนดออกในเดือนธ.ค 2555

ทั้งนี้ Amortized Bond เป็นเครื่องมือระดมทุนชนิดใหม่ของรัฐบาล โดยมีจุดเด่นที่แตกต่างจากพันธบัตร Benchmark ปกติของรัฐบาล กล่าวคือ มีการทยอยชำระคืนเงินต้นในสัดส่วนต่างๆ แทนที่จะเป็นการชำระคืนครั้งเดียว เมื่อสิ้นสุดอายุตราสารเหมือนพันธบัตร Benchmark ซึ่งในการนี้ สบน. ได้กำหนดรูปแบบของ Amortized Bond ของกระทรวงการคลังให้มีการทยอยชำระคืนเงินต้นในช่วง 5 ปีสุดท้ายของอายุตราสาร ซึ่งรูปแบบดังกล่าวช่วยให้รัฐบาลสามารถสร้าง Amortized Bond ให้มียอดคงค้างในระดับที่สูงมากได้ เช่น ในระดับ 100,000 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อส่งเสริมให้ตราสารมีสภาพคล่องสูงโดยไม่มีความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้ (Roll-Over Risk)

น.ส.จุฬารัตน์ กล่าวว่า จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่าง สบน. กับผู้ร่วมตลาดในเบื้องต้นพบว่ากลุ่มบริษัทประกันชีวิตและกลุ่มนักลงทุนต่างชาติมีความสนใจที่จะลงทุนใน Amortized Bond เป็นพิเศษ โดยสำหรับกลุ่มบริษัทประกันชีวิตพบว่ากระแสเงินสดรับ (Cash inflow) ที่เกิดจาก Amortized Bond สอดรับกับกระแสเงินสดจ่าย (Cash Outflow) ของบริษัทประกันชีวิตได้ดี

นอกจากนั้น การทยอยชำระคืนเงินต้นของ Amortized Bond ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะไม่สามารถลงทุนได้เมื่อตราสารหนี้ที่มีวงเงินขนาดใหญ่ครบกำหนด (Re-investment Risk) อีกด้วย และสำหรับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ พบว่ามีความสนใจที่จะลงทุนในตราสารหนี้ของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Country) อย่างมาก ซึ่งรวมถึงพันธบัตร Benchmark และ Amortized Bondที่ออกโดยกระทรวงการคลังด้วย

นอกจากนี้ สบน. มีแผนที่จะออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี (Inflation Linked Bond)ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อรุ่นอายุ 10 ปี ในปีงบประมาณ 2554 โดยล่าสุด พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อรุ่นอายุ 10 ปี มียอดคงค้างประมาณ 100,000 ล้านบาท และมี Turnover Ratio ที่ประมาณ 1 เท่า และเป็นที่นิยมของ นักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวใน ASEAN ที่ออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อได้สำเร็จ

นอกจากนี้ ปัจจุบัน สบน. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการออกพันธบัตรสกุลเงินสหรัฐ (US Dollar Bond) และ Zero-Coupon Bond ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ