เอกชนร้องรัฐช่วยเหลือหลังปรับเพิ่มค่าแรง เพื่อขับเคลื่อนแผนฯ 11สู่การปฎิบัติ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 8, 2012 13:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย จัดประชุมเชิงปฎิบัติการการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการของภาคเอกชนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 โดยอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 จะรวบรวมความเห็นเสนอรัฐบาล

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 กล่าวว่า แผน 11 ได้เริ่มใช้มาเกือบ 1 ปี ซึ่ง สศช. เห็นว่าจะต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้สังคมมีความมั่นคง และเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง เน้นเรื่องการลงทุนที่มีคุณภาพ และพัฒนาความร่วมมือเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ทั้งนี้ จากการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน พบว่า ภาคการเงินมีสภาพคล่องเพียงพอแต่มีปัญหาเรื่องความต้องการเงินทุน ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง หรือ เรียลเซคเตอร์ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงจำเป็นต้องทบทวนยุทธศาสตร์การดำเนินการให้เป็นไปตามแผน 11 และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในขณะนั้น โดยเฉพาะเรื่องค่าแรง 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ที่ถือนโยบายของรัฐนำมาเป็นตัวตั้ง ส่งผลทำให้ภาคเอกชนต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพการผลิต จากเดิมที่แผนพัฒนาฯฉบับที่ 11 กำหนดให้มีการปรับปรุงคุณภาพการผลิตเพื่อนำมาซึ่งค่าแรงที่สูงขึ้น

"ภาคเอกชนยอมรับว่า จำเป็นจะต้องเดินหน้าการปรับค่าแรงตามนโยบายของรัฐ แต่ก็จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี แผน 11 กิจกรรมต้องเปลี่ยน การช่วยภาคเอกชนต้องมี" นายณรงค์ชัย กล่าว

ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ต้นทุนค่าแรงของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง บางแห่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน ดังนั้น การเพิ่มผลิตภาพการผลิตจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนให้ภาคธุรกิจ

ขณะที่นางสมทรง สัจจาภิมุข รองประธานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวต้องการให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปี เพื่อนำไปเร่งอบรมบุคลากรให้มีทักษะและปริมาณมากขึ้น รวมทั้งเป็นบุคลากรที่ถูกกฎหมาย พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ รวมทั้งหาแหล่งเงินทุนอย่างน้อย 1 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้กับเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรายละ 5 ล้านบาท รวมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ส่วนนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มการเปิดด่านตามแนวชายแดนเพื่อช่วยธุรกิจการค้าตามแนวชายแดน และพัฒนาในธุรกิจที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสิ่งทอและอัญมณี ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง และธุรกิจด้านการบริการ เพื่อเตรียมพร้อมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งควรจะมีการแก้ไขกฏระเบียบต่างๆของรัฐให้สอดคล้องกับภาคเอกชนและสิ่งสำคัญต้องช่วยกันในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ