(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 55 เหลือโต 5.4% จาก 5.6% ปีหน้าโต 4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 8, 2012 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 55 เหลือเติบโต 5.4% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 5.6% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ส่วนปี 56 คาดว่า GDP จะเติบโต 4.5% จากปัจจัยลบทั้งเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน เสถียรภาพการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาภัยธรรมชาติ เป็นต้น

ขณะที่การส่งออกคาดว่าในปี 55 จะขยายตัวเพียง 3.5% ก่อนเติบโตเป็น 7.4% ในปี 56 ส่วนการนำเข้าในปี 55 คาดว่าจะขยายตัว 8.4% และเพิ่มขึ้นเป็น 10.1% ในปี 56 ขณะที่ดุลการค้าในปี 55 คาดว่าจะเกินดุล 7,679 ล้านดอลลาร์ และเกินดุล 2,331 ล้านดอลลาร์ในปี 56 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 55 คาดไว้ที่ 3.1% และจะเร่งตัวเป็น 3.5% ในปี 56 และค่าเงินบาทเฉลี่ยปี 55 คาดไว้ที่ 31.40 บาท/ดอลลาร์ และจะแข็งค่าขึ้นเป็น 30 บาท/ดอลลาร์ในปีหน้า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การที่ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 56 ที่ระดับ 4.5% ซึ่งลดลงจากปี 55 ที่คาดว่าจะเติบโต 5.4% นั้น สาเหตุสำคัญมาจากการส่งออกของไทยที่เชื่อว่าจะลดลงมากจากก่อนหน้านี้ที่เคยประเมินว่าทั้งปีการส่งออกจะโตได้ 10% และ ม.หอการค้าไทย ได้ปรับลดลงมาเรื่อยๆ จนเหลือ 5.7% และล่าสุดเหลือที่ 3.5% ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินจากมูลค่าการส่งออกหายไป 4-6 แสนดอลลาร์ จึงทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 56 ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศเป็นตัวพยุงหลัก โดยคาดว่าในปี 56 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยจะอยู่ที่ 22 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.8% คิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวราว 9.66 แสนล้านบาท

ในขณะที่ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศนั้น ยังเป็นปัจจัยกระทบเศรษฐกิจไทยแบบอ่อนๆ ซึ่งตราบใดที่ในปีหน้าไม่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็อาจจะสร้างปัญหาเพียงแค่ความกังวลใจในการออกมาจับจ่ายใช้สอยของประชาชน แต่คาดว่าจะเริ่มดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 56 โดยมองว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเร่งดำเนินโครงการในด้านโครงสร้างพื้นฐานให้เห็นเป็นรูปธรรมก่อนช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ 3จี หรือแม้แต่โครงการขนส่งระบบราง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ตามมา

"รัฐบาลต้องเร่งและเริ่มการประมูลจัดซื้อจัดจ้างให้เห็นอย่างช้าภายใน ก.ค.56 เพราะหากในช่วงครึ่งปีแรกยังไม่มีการตอกเสาเข็มทั้งในเรื่องบริการ 3จี เรื่องรถไฟฟ้า ภาพที่เรามองเศรษฐกิจปี 56 ไว้ที่ 4.5% ก็อาจจะไม่เห็น" นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในปี 56 ยังมีปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย เช่น เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป, รัฐบาลยังใช้นโยบายการเงินโดยให้อัตราดอกเบี้ยทรงตัวอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียง 2.5-3.25%, นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น งบประมาณขาดดุล 3 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำอีก 3.5 แสนล้านบาท, รัฐบาลยังมุ่งเน้นนโยบายเพิ่มรายได้และลดค่าครองชีพให้ประชาชน เป็นต้น

นายธนวรรธน์ ยังคาดการณ์ตัวเลข GDP ในไตรมาส 3/55 ซึ่งสภาพัฒน์จะแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 พ.ย.55 ว่า น่าจะเติบโตได้ 4.1% ซึ่งใกล้เคียงกับ GDP ใน Q2/55 ที่เติบโตได้ 4.2% จากภาคการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นแม้จะยังไม่โดดเด่นนักเพราะเศรษฐกิจโลกยังมีปัญหา ประชาชนมีความกังวลต่อเศรษฐกิจของประเทศกรีซและสเปน ซึ่งแม้สหรัฐฯ จะประกาศใช้มาตรการ QE3 ออกมาก็ยังไม่ส่งผลทันต่อภาวะเศรษฐกิจไทยได้ทันในไตรมาส 3 ดังนั้นจึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 4/55 น่าจะเริ่มมีการปรับต้วได้ดีขึ้น

"สหรัฐฯ เอา QE 3 ออกมา แต่ก็ยังพลิกเศรษฐกิจไทยไม่ทัน เพราะออร์เดอร์มีไปก่อนแล้ว นักท่องเที่ยวยังลังเล แต่ในไตรมาส 4 ทุกอย่างมันได้ทำการปรับแล้ว และรัฐบาลได้เริ่มเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งโครงการจำนำข้าว โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยวที่เป็นช่วงไฮซีซั่น ซึ่งจะทำให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/55 ให้พลิกฟื้นขึ้นได้จากการท่องเที่ยวและกำลังซื้อให้ประเทศ และทำให้ GDP โตได้ถึง 13.7%" นายธนวรรธน์ กล่าว

ด้านนายวิชัย อัศรัสกร เลขาธิการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากปัญหาเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ การเงิน การส่งออก ประกอบกับต้นทุนการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมสำคัญได้ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นทุนราคาน้ำมันและค่าจ้างแรงงาน รวมทั้งแนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยแข่งขันได้ยากขึ้นในตลาดโลก ซึ่งจากสถานการณ์ต่างๆ จึงเห็นควรจัดตั้ง "ศูนย์วิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการค้า" ซึ่งเป็นความร่วมมือของหอการค้าไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และได้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เข้ามาร่วมวิเคราะห์ติดตามเศรษฐกิจในภาพรวม รวมทั้งภาคสถาบันการเงิน เพื่อให้การประเมินวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจมีความครอบคลุมได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ การทำงานของศูนย์ดังกล่าวจะเน้นการติดตามสถานการณ์และการเตือนภัย ทั้งโอกาสและความเสี่ยง รวมทั้งสะท้อนความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ โดยผลของการติดตามสถานการณ์นี้จะมีการแถลงผลการศึกษาในทุก 3 เดือน

"เราจะเป็นเหมือนศูนย์เตือนภัยให้ภาคธุรกิจ โดยจะมีการวิเคราะห์ข้อมูล พร้อมกับนำเสนอปัญหา ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลด้วย" นายวิชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ