รวมทั้งการผลักดันเรื่องการลดต้นทุนการปลูกข้าวลง แต่ให้ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น เช่น การปลูกข้าวคุณภาพในระบบการเกษตรที่เหมาะสม(GAP), ข้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) และข้าวอินทรีย์ ซึ่งใช้สารเคมีในการปลูกข้าวลดลง ทำให้ชาวนาเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยและสารเคมีลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง เพื่อจะทำให้ข้าวที่ผลิตได้มีการรับรองมาตรฐานการผลิต ผลผลิตใช้เพื่อการบริโภค และใช้เป็นวัตถุดิบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่อไปได้ สามารถช่วยให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมกับเสนอแนะการให้รางวัลแก่ชาวนาเมื่อมีการปลูกข้าวคุณภาพดี เพื่อเป็นแรงจูงใจและเป็นตัวอย่างให้ชาวนารายอื่นปฏิบัติตาม
ส่วนในเรื่องของคู่แข่งขันนั้น นางลัดดาวัลย์ มองว่า ไม่ต้องหวั่นไหวกับคู่แข่ง เพราะหากขายสินค้าที่มีคุณภาพดีกว่าก็จะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยขอให้เกษตรกรให้ความสำคัญกับปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ดี ซึ่งจะทำให้ชาวนาสามารถดำรงชีพได้ ขณะเดียวกันได้เสนอให้ภาครัฐหาแนวทางเพื่อให้เกษตรกรได้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูกอย่างทั่วถึง
นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว แนะนำให้ชาวนาปรับความคิดใหม่จากการที่เน้นปริมาณผลผลิต มาเป็นเน้นมูลค่าของผลผลิตแทน ซึ่งมูลค่านั้นจะต้องมาพร้อมกับคุณภาพข้าวที่ดีด้วย ทั้งนี้ในตลาดยุโรปและสหรัฐฯ จะเน้นคุณภาพเป็นสำคัญ
สำหรับในตลาดอาเซียน เห็นว่าผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวในประเทศควรร่วมมือกันทำให้ประเทศไทยเป็น HUB ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถกำหนดราคาข้าวได้บางส่วน และทำให้ราคาข้าวไทยในตลาดโลกดีขึ้น เพียงแต่ต้องควบคุมคุณภาพควบคู่กันไปด้วย รวมทั้งมีโครงการจัดทำ Zoning ซึ่งขณะนี้ได้พิจารณาพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับประเทศกัมพูชา โดยโครงการนี้จะนำข้าวที่ปลูกในประเทศไทยไปสีแปรสภาพในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งออกต่อไป อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
"ในการทำการตลาดข้าวไทยนั้น ควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้าวมากที่สุด เพราะตลาดต่างชาติเชื่อเรื่องคุณภาพมากกว่า" นายอัครพงศ์ กล่าว
นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวถึงผลผลิตข้าวหอมมะลิในประเทศไทยที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 3.3 ล้านตัน เพราะผลผลิตข้าวหอมมะลิในภาคอีสานปีนี้ลดต่ำลง 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่ปลูกลดลง เกษตรกรในภาคอีสานเปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่นแทนข้าว อีกทั้งการทำการตลาดข้าวกับห้าง Modern Trade ได้ถูกบีบราคาเนื่องจากกลไกตลาด ข้าวถุงที่ขายในห้าง Modern Trade เป็นข้าวหอมมะลิผสม ซึ่งไม่ได้เป็นข้าวหอมมะลิทั้งหมด
ดังนั้น จึงมองว่าการแก้ปัญหาควรมองการปฏิรูปจะทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่ได้กับระบบตลาดราคาข้าวในปัจจุบัน อีกทั้งควรมีการนำพันธุ์ข้าวจากรัฐบาลมาแจกให้เกษตรกรฟรี รัฐบาลควรมีการผลักดันผลผลิตมากขึ้นและนโยบายของรัฐบาลควรมีเป็นนโยบายที่เห็นผลทันทีไม่ว่าจะเป็นโครงการจำนำข้าวหรือประกันราคาข้าว พร้อมกันนี้ภาครัฐควรพัฒนาระบบชลประทานให้ดีขึ้น ควรดูแลเรื่องราคาที่ทำให้เกษตรกรอยู่ได้ และแนะนำว่าการรักษาคุณภาพของข้าวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ขณะที่ น.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงว่า ปัจจุบันสภาพการแข่งขันนอกประเทศเปลี่ยนไป ประเทศที่เคยนำเข้าข้าวได้หันเพาะปลูกข้าวเพื่อการบริโภคในประเทศแทน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทย แต่การส่งออกเป็นแค่ภาพปลายน้ำเท่านั้นและควรบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ พร้อมทั้งแนะนำให้มีการยกระดับข้าวให้เป็นสินค้าพรีเมียม เช่น การปลูกข้าว GAP และข้าว GI เน้นการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐาน ความปลอดภัย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งควรดูแลด้านปัจจัยการผลิตและการใช้ที่ดินให้มีประสิทธิภาพ
ในด้านนโยบายของรัฐบาลนั้นยังไม่มีความชัดเจนและขัดแย้งกันเอง เช่น นโยบายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก จะมีข้อขัดแย้งในด้านราคาที่ต้องสามารถจำหน่ายให้กับผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งสินค้าที่มีคุณภาพควรมีราคาที่สูงตามไปด้วย จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้
ส่วนด้านการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) มองว่าน่าจะเป็นปัญหาระยะยาว ทำให้มีความกดดันมากขึ้นต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกร โดยพยายามหลีกเลี่ยงการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในพื้นที่ต้นน้ำ พร้อมทั้งเสนอแนะให้รัฐบาลกำหนดทิศทางให้ชัดเจนเกี่ยวกับคุณภาพการผลิตข้าว ทั้งในเรื่องของกฎระเบียบ, การส่งเสริมการผลิต, กำหนดกรอบเวลาที่แน่นอน และมีเครื่องมือชี้วัดความสำเร็จ โดยให้มีองค์กรหลายภาคส่วนมารับผิดชอบในส่วนนี้ด้วย รวมทั้งนโยบายที่ต้องไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย และควรจัดทำ road map เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม
นายวลิต เจริญสมบัติ ประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ๋ข้าวชุมชน ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี กล่าวว่า นโยบายปฏิรูปข้าวไทยต้องไปพัฒนาตัวเกษตรกรเป็นหลัก ไม่ควรมองว่าไทยเป็นอันดับ 1 ในการผลิตข้าวแล้วจะไม่ให้ความสำคัญกับเกษตรกร แต่ควรหาแนวทางให้เกษตรกรสามารถยืนอยู่ด้วยตัวเองได้ โดยการให้ความรู้แก่เกษตรกร สร้างผู้นำในการกำหนดทิศทางให้ชัดเจนว่าจะเด่นในทางไหนและทำอย่างไรให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน
ด้านนโยบายของรัฐนั้น เห็นว่า นโยบายจำนำข้าวหรือประกันราคาข้าวจะทำให้เกษตรกรไทยอ่อนแอ และเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการทุจริตตั้งแต่รากหญ้า ขณะที่นโยบายบัตรเครดิตเกษตรกรยังเกิดช่องโหว่และไม่ได้สร้างการพัฒนากับตัวเกษตรกรเอง ส่วนในเรื่องของ AEC นั้น อยากให้ประเทศไทยเป็นผู้รวบรวมและกำหนดราคาข้าว
พร้อมกันนี้ยังแนะนำให้ภาครัฐลดช่องว่างของการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ข้าวที่รัฐบาลถืออยู่ โดยเสนอว่าควรจัดตั้งกองทุนขึ้นเพื่อให้เกษตรกรยืมพันธุ์ข้าวไปเพาะปลูกและนำกลับมาทดแทน พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตพันธุ์ข้าวเอง และให้เกษตรกรเปลี่ยนแนวคิดโดยหันมาสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนด้วย