"พงษ์ศักดิ์"ตรวจเยี่ยม-มอบนโยบายด้านพลังงานให้ กฟผ. และ ปตท.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 9, 2012 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ได้มอบนโยบายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยขอให้ กฟผ.ไปศึกษาเรื่องการลดต้นทุนไฟฟ้าในอนาคต โดยใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนต่ำทั้งถ่านหิน และการเจรจาซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการขยายตัวการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากกำลังการผลิต 30,000 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน เป็น 70,000 เมกะวัตต์ในปี 73

โดยปัจจุบัน มีการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมากถึง 70% แต่หากเกิดความไม่สงบกระทบต่อการขนส่งก๊าซฯ อาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าได้

พร้อมเห็นว่า สิ่งที่ กฟผ.ต้องดำเนินการ คือ สร้างความเข้าใจเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดกับ NGV โดยเมื่อเร็วๆ นี้ จากการที่รัฐบาลไทยนำตัวแทนรัฐบาลพม่าไปเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และเยี่ยมชมการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP ทำให้พม่าเกิดความมั่นใจและเห็นด้วยที่จะให้เกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นิคมฯ ทวาย ประเทศพม่า

รมว.พลังงาน กล่าวด้วยว่า ประเทศลาวแจ้งว่าพร้อมเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี กำลังผลิต 1,220 เมกะวัตต์ โดยตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทยและลาวนั้น ไซยะบุรีจะต้องส่งไฟฟ้าให้ไทยภายในปี 62 ซึ่งที่ผ่านมาโครงการนี้มีความล่าช้าในเรื่องการทำความเข้าใจ, การป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดีประเทศปลายลำน้ำโขง ได้แก่ เวียดนาม และกัมพูชาให้การยอมรับจึงนับเป็นเรื่องที่ดี

อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทยเห็นว่าแม้โครงการอาจล่าช้า แต่ไม่กระทบโครงการความมั่นคงด้านไฟฟ้าของไทย เพราะไทยเตรียมเปิดประมูลโรงไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่(IPP) กำลังผลิต 5,400 เมกะวัตต์ ในปลายปีนี้ ซึ่งจากการจัดการไฟฟ้าโดยรวมยังเชื่อมั่นว่าไฟฟ้าจะไม่ขาดแคลน โดยปีนี้ไทยมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด(พีค) อยู่ที่ 26,000 เมกะวัตต์

ด้านนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าฯ กฟผ. กล่าวว่า รมว.พลังงาน แสดงความเป็นห่วงปัญหาต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นที่จากการใช้ก๊าซฯ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกที่ต้องกระจายเชื้อเพลิงจากก๊าซฯ เป็นถ่านหิน และไฟฟ้าพลังน้ำ โดยตามแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าระยะยาว(PDP)20 ปี มีโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ และ กฟผ.จะเดินหน้าก่อสร้างตามแผน

ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากพม่านั้นที่ผ่านมามีความล่าช้า เนื่องจากติดปัญหาเงื่อนไขการลงทุนในพม่า หากรัฐบาลพม่ามีการเปิดกว้างคงทำให้เอกชนสามารถเดินหน้าการลงทุนได้ โดยพม่ามีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำสูงถึง 10,000 เมกะวัตต์

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าทวาย หากรัฐบาลพม่าตัดสินใจที่จะใช้ถ่านหินก็คงทำให้โครงการคืบหน้ารวดเร็วขึ้น โดยโครงการนี้ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) เข้าไปถือหุ้นร่วมด้วย และ กฟผ.พร้อมรับซื้อไฟฟ้าหากมีกำลังผลิตเหลือส่งและสายส่งในประเทศพร้อมรับไฟฟ้าดังกล่าว

ด้านนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า โครงการไซยะบุรีจะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย ประกอบกับ ต้นทุนจากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมีต้นทุนที่ต่ำและมีสัญญายาวถึง 25 ปี ดังนั้นจึงเป็นผลดีแก่ไทยและลาว โดยก่อนหน้านี้ไทยในฐานะผู้ซื้อไฟฟ้าได้เสนอความเห็นแก่ลาวให้มีการดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งลาวและผู้ลงทุนมีการรับรองจนมีการยอมรับและเดินหน้าการลงทุน

นอกจากนี้ รมว.พลังงาน ได้ตรวจเยี่ยม บมจ.ปตท.(PTT) โดยมอบนโยบายให้ ปตท.นำผลกำไรของบริษัทมาใช้ดูแลสังคมให้มากขึ้น และให้เร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่า ปตท.มีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่รัฐบาลและประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในแหล่งพลังงาน ทำให้รัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณลงทุน

ส่วนกรณีที่ ปตท. ต้องรับภาระค่าก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ในช่วงที่ผ่านมา จะต้องมีการประชุมเพื่อหาข้อมูลว่ามีผู้ใช้จำนวนเท่าใด และมีผลกระทบอย่างไร ก่อนจะนำมาหารือกันอีกครั้งเพื่อแก้ปัญหา ส่วนการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาให้ ปตท.ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะกองทุนฯ มีกลไกในการจ่ายเงินอยู่แล้ว

สำหรับการลงทุนในนิคมฯ ทวายนั้น กระทรวงพลังงานเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในการดำเนินการ ซึ่งได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการไปติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่การลงทุนในโครงการด้านพลังงานต่างๆ ยังไม่ได้หารือในรายละเอียด เพราะจะต้องมีการศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุน จึงจะทราบว่าจะมีโครงการใดในนิคมฯ ทวายได้บ้าง ซึ่งกระทรวงยังไม่ได้ผลักดันให้ ปตท.และ กฟผ.ไปลงทุน เพราะทั้ง 2 หน่วยงานอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เมื่อการศึกษาแล้วเสร็จจึงจะระบุได้ว่าสามารถลงทุนได้หรือไม่ และควรลงทุนในโครงการใดบ้าง

สำหรับ กฟผ.ได้ให้บริษัทลูก คือ RATCH ร่วมศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ร่วมกับ บมจ.อิตาเลียน-ไทย ดีเวล็อปเม้นต์(ITD) ในนิคมฯทวาย ซึ่งสนับสนุนให้เดินหน้าต่อ แต่ต้องรอผลการศึกษาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ