ทั้งนี้เป็นเพราะที่ผ่านมา กรมฯ ได้ทำงานร่วมกับผู้ผลิตและผู้ส่งออกอย่างใกล้ชิดในการส่งเสริมและผลักดันการส่งออก รวมถึงแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาและส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย การสำรวจและจัดหาวัตถุดิบจากต่างประเทศในปริมาณที่เพียงพอ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการผลิต, การเจียระไน, การออกแบบ และการบริหารการจัดการ รวมถึงศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลสินค้าในตลาดต่างประเทศ, การพัฒนาบุคลากรในธุรกิจให้มีความสามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในการผลิต ออกแบบ รวมถึงมีการขยายตลาดใหม่ๆ โดยสนับสนุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การจัดคณะผู้แทนการค้า และพัฒนาการซื้อขายสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ
"จุดแข็งของอุตสาหกรรมอัญมณีไทย คือ มีการพัฒนาอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะมีความชำนาญในการพัฒนาสินค้าที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผู้ส่งออกมีความเข้าใจตลาด และผู้ค้าในตลาดโลกรู้จักไทยมากกว่าคู่แข่งในตลาดใหม่ โดยไทยเป็นตลาดการค้าพลอยสีที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ขณะที่ช่างไทยมีฝีมือในการเผาพลอย ทำสี และตั้งน้ำพลอยได้สวยงาม อีกทั้งยังมีฝีมือประณีตในการดีไซน์และขึ้นรูปเครื่องประดับ จึงทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทย" นางศรีรัตน์ กล่าว
สำหรับมูลค่าการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ที่ทำได้ถึง 10,931 ล้านเหรียญฯนั้น ยังไม่รวมสินค้ากลุ่มทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปอีก 4,935.42 ล้านเหรียญฯ ส่วนตลาดหลักของไทยที่มูลค่าการส่งออกขยายตัว เช่น ฮ่องกง, เยอรมนี, ญี่ปุ่น ส่วนตลาดที่ลดลง เช่น สหรัฐฯ เบลเยี่ยม, อินเดีย เพราะปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และอินเดียมีการปรับเปลี่ยนภาษีขาเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ แต่การส่งออกไปยังตลาดใหม่ เช่น สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ (UAE) เลบานอนสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น