หลักเกณฑ์ใหม่จะตัดสิทธิฯ ประเทศที่ถูกจัดอันดับโดยธนาคารโลกให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Countries) และกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper Middle Income Countries) เป็นเวลา 3 ปี ติดต่อกัน โดยประเทศที่ถูกตัดสิทธิฯ ตามหลักเกณฑ์นี้จะมีระยะเวลาในการปรับตัว 1 ปี หลังจากการประกาศผลการพิจารณา
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปจะตัดสิทธิฯ ประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ ที่สหภาพยุโรปให้สิทธิฯ เทียบเท่าหรือมากกว่าระบบ GSP โดยประเทศเหล่านี้จะมีระยะเวลาในการปรับตัว 2 ปี หลังจากความตกลงทางการค้ามีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ สหภาพยุโรปจะประกาศรายชื่อประเทศที่ถูกตัดสิทธิฯ ในทุกวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี
สำหรับการตัดสิทธิฯ เป็นหมวดสินค้า สหภาพยุโรปได้ปรับหลักเกณฑ์การตัดสิทธิฯ โดยสินค้าใน แต่ละหมวดจะถูกตัดสิทธิฯ เมื่อมูลค่าที่สหภาพยุโรปนำเข้าจากประเทศผู้รับสิทธิฯ เฉลี่ย 3 ปีติดต่อกัน เกินร้อยละ 17.5 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าในหมวดนั้นๆ รวมจากทุกประเทศผู้รับสิทธิฯ (และร้อยละ 14.5 สำหรับสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม) ทั้งนี้ คาดว่าคณะกรรมมาธิการยุโรปจะประกาศรายชื่อหมวดสินค้าที่ถูกแตัดสิทธิฯ สำหรับแต่ละประเทศผู้รับสิทธิฯ ในช่วงต้นปี 2556 โดยการตัดสิทธิฯ ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป
นางปราณี กล่าวว่า ระเบียบใหม่ดังกล่าวจะทำให้ประเทศผู้รับสิทธิ GSP สหภาพยุโรปลดลงจาก 176 ประเทศ เหลือเพียง 89 ประเทศ โดยไทยยังคงอยู่ในรายชื่อประเทศผู้รับสิทธิฯ ต่อไป
อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถิติปี 2553-2554 ประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติต่อหัว 4,150 และ 4,420 เหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Upper-Middle Income Countries ดังนั้น หากรายได้ประชาชาติต่อหัวของไทยในปี 2555 ยังคงอยู่ในระดับ Upper Middle Income ไทยอาจถูกตัดสิทธิฯ ในปี 2557 เนื่องจากมีรายได้ตามเกณฑ์ที่สหภาพยุโรปกำหนดเป็นระยะเวลา 3 ปีติดต่อกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้ได้ตามระดับสากล เนื่องจากไทยอาจไม่สามารถพึ่งพิงความได้เปรียบในด้านราคาแต่เพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป