วงเสวนาข้าวห่วงรับจำนำข้าวเปิดช่องทุจริต-ทำปท.เสียหาย แนะหาทางออกก่อนสาย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 12, 2012 16:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิชาการ ผู้ส่งออกข้าว อดีตผู้ว่าฯ ธปท. เห็นพ้องโครงการับจำนำข้าว ก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี มองรัฐใช้เงินแทรกแซงสูงบิดเบือนราคา ส่งผลหนี้สาธารณะพุ่ง รวมทั้งเปิดช่องให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น แนะหันหาทางออกอื่น อาทิ การลดต้นทุนการผลิต

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานเสวนา "ข้าว ชาวนา นักการเมือง และประเทศชาติ ใครได้ใครเสีย"ว่า การระบายข้าวที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา เพราะระยะหลังเป็นข่าวร้ายของประเทศไทย เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์พยายามปิดปังข้อมูลมากขึ้น

"เดิมมีการรายงานตัวเลขการจำนำข้าว ขายข้าวทุกวัน แต่เดี๋ยวนี้ปิดบังตัวเลขนี้แล้ว ส่วนตัวเลขการส่งออกเดิมสภาหอการค้ามีหน้าที่ตรวจสอบข้าวที่ส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ เพราะข้าวหอมมะลิจะมีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์หนึ่งดูแลอยู่ แต่การส่งออกข้าวขาวโดยทั่วไปจะมีคณะกรรมการของสภาหอการค้าเป็นผู้ตรวจสอบ แต่พอวันหนึ่งมีข่าวว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการส่งออกข้าวจีทูจี เพราะมีตัวเลขที่รายงานชัดเจนโดยสภาหอการค้า รัฐบาลก็ยึดอำนาจนี้กลับคืนไป ถือว่าเป็นการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใส"

นอกจากนี้ การรับจำนำข้าวรัฐบาลต้องใช้เงินแทรกแซงสูง และตามพันธสัญญากับองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ระบว่าสามารถใช้เงินแทรกแซงตลาดและบิดเบือนตลาดได้ไม่เกิน 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ประเด็นสำคัญอีกอย่างคือ รัฐบาลขายข้าวในตลาดโลกในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกหรือไม่ ถ้าขายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าราคาในตลาดโลกถือว่าเป็นการทุ่มตลาดก็เป็นการผิดกติกาของ WTO อีกเช่นกัน

"เชื่อว่าประเทศสมาชิก WTO คงไม่ถึงขั้นรวมตัวฟ้องไทยทำผิดกติกา เพราะประเทศคู่แข่งของเราไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชาล้วนแต่ได้ประโยชน์ ขณะที่ประเทศผู้ซื้อแบบจีทูจีก็จะหาวิธีการเจรจากับเราเพื่อที่จะได้ซื้อข้าวไทยในราคาถูก เพราะรู้ว่ารัฐบาลต้องการขายข้าว เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะมีประเทศสมาชิก WTO ฟ้องร้องไทยคงไม่มี

ดีที่สุดคือไม่มีโครงการนี้ แต่รัฐบาลเรียนผูกรัฐบาลก็ต้องเรียนแก้ว่ารัฐบาลจะลงจากหลังเสือได้อย่างไร เพราะรัฐบาลได้หาเสียงเอาไว้ ผมว่ารัฐบาลรู้อยู่เต็มอกว่ามีข้อเสียอะไรบ้าง และผมคิดว่ากาลเวลาจะพิสูจน์ว่าข้อเสียของโครงการรับจำนำนี้มีมากกว่าข้อดี แต่ผมกังวลว่ากว่ารัฐบาลจะแก้ได้ มันจะสายเกิน"นายนิพนธ์ กล่าว

ส่วนแผนการขายข้าวแบบบาร์เตอร์เทรด ด้วยการแลกกับรถไฟของจีนนั้น มองว่าเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่าการขายข้าวแลกเงิน เพราะการขายข้าวแลกเงินเราตั้งราคาขายข้าวได้ แต่ถ้าบาร์เตอร์มี 4 ขา ฝั่งผู้ซื้อ 2 ขา ผู้ขาย 2 ขา เช่น ถ้าขายข้าวแลกคอมพิวเตอร์ คนขายก็อยากขายให้เราในราคาแพง ขณะที่เราอยากซื้อคอมพิวเตอร์ราคาถูก เหมือนกันเราอยากขายข้าวให้ราคาแพง แต่ผู้ซื้อก็อยากซื้อข้าวราคาถูก ก็ทำให้มีนายหน้าจากฝั่งโน้นขายคอมพิวเตอร์และก็จะมีนายหน้าขายข้าวจากฝั่งไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการปิดบังส่วนต่างราคาเป็นความลับทำให้ไม่รู้ว่าราคาคอมพิวเตอร์และกับราคาข้าวเท่าไหร่ ส่วนต่างตรงนี้ก็จะตกอยู่กับนายหน้าทั้งสองฝ่าย

"การขายบาร์เตอร์เทรดจึงเป็นอะไรที่เลวร้ายที่สุด ไม่ควรทำครับ"นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้ารัฐบาลรู้ตัวว่าบริหารและผิดพลาด ต้องหยุด การใช้เงินอย่างเดียวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแล้วไม่ทำอย่างอื่นเลย ถึงเวลาก็ขยายเวลารับจำนำไปเรื่อยๆ มีแต่จะสร้างผลเสียมากกว่าข้อดี โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่สำคัญเป็นการสนับสนุนโรงสีที่เป็นหัวคะแนนของกลุ่มการเมืองให้เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ต้นทุนรับจำนำข้าวขาวของไทยอยู่ที่ 800 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ซึ่งปกติต้นทุนข้าวขาวอยู่ที่ 580 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ก็ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งคือเวียดนามที่ขายข้าวในราคา 450-460 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน อินเดียและปากีสถานราคา 440 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และพม่าเริ่มผลิตเพื่อส่งออกในราคา 400 ดอลลาร์ต่อตัน อีกทั้งรัฐบาลมีข้าวในสต๊อกมากกว่า 10 ล้านตัน ยังไม่นับรวมข้าวในปีใหม่ที่จะรับจำนำเพิ่มเข้ามาอีก

"ปีหน้ารัฐบาลต้องระบายข้าวแน่นอน เพราะผลผลิตรอบใหม่จะออก รัฐบาลเองก็จะรับจำนำต่อ ของเก่าเก็บไว้ก็มีแต่จะเสื่อมคุณภาพ ผู้ซื้อก็จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เพราะรู้ว่ารัฐบาลไทยต้องระบายข้าวในสต็อก"นายชูเกียรติ กล่าว

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรับจำนำข้าวของรัฐบาลนั้นถือว่าช่วยผลักดันให้ราคาสูงขึ้น ชาวนาอาจได้รับประโยชน์บ้าง แต่ตนมีความเป็นห่วงหนี้สาธารณะเพราะที่รัฐบาลรับจำนำข้าวนาปีไป 6.95 ล้านตัน รัฐบาลขาดทุน 3.2 หมื่นล้านบาท หนี้สาธารณะอยู่ที่ 42.5% เมื่อรวมกับของใหม่ที่จะรับจำนำ 14.69 ล้านตัน รัฐบาลน่าจะขาดทุน 1.4 แสนล้านบาท ที่น่าเป็นห่วงต่อไปคือรัฐบาลประกาศว่าปีหน้าจะรับจำนำให้ได้ 33 ล้านตัน คาดว่ารัฐบาลน่าจะขาดทุนประมาณ 2.1 แสนล้านบาท

"เมื่อคำนวณตัวเลขต่างๆแล้ว หากยังเดินหน้าโครงการรับจำนำต่อไปในปี 2562 หนี้สาธารณะจะสูงถึง 61% ของจีดีพี จะส่งผลทำให้งบประมาณขาดดุล และจะกระทบต่อค่าเงินบาทด้วย"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ขณะที่นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวแนะนำให้รัฐบาลช่วยชาวนาไทยลดต้นทุนการผลิต เพื่อทำให้ชาวนาไทยยืนได้ด้วยตัวเองดีกว่าเอาเงินมาให้เกษตรกรแล้วทำให้ไม่พึ่งพาตัวเอง ทุกวันนี้ชาวนามีหนี้สิน 5 แสนบาท/ครัวเรือน ที่ดินทำนาน้อยลงเรื่อยๆ ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นนาเช่า 60% และ 40% เป็นที่ดินของชาวนาเอง ที่เช่าอยู่ก็มีต้นทุนในการเช่าสูงขึ้น เพราะเมื่อมีโครงการรับจำนำชาวนาก็อยากเช่านาเพื่อปลูกข้าวเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแย่งกันเช่าเจ้าของนาก็ขึ้นราคาค่าเช่า

นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลรณรงค์งดใช้สารเคมียาฆ่าแมลง และขึ้นภาษีนำเข้าสารเคมี ยาฆ่าแมลง ประเทศไทยมีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับ 48 ของโลก แต่ก็เป็นประเทศที่มีการใช้ยาฆ่าแมลงสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ