"ถือเป็นตัวเลขที่ไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งน้ำมันทางรถบรรทุกที่ต้องใช้เงินประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี หากคิดตลอดระยะเวลาดำเนินการ 25 ปี การขนส่งทางรถบรรทุก เมื่อคิดถึงการอุบัติเหตุ และค่าความเสียของถนน จะรวมกันกว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันจะคุ้มค่ามาก" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
รมว.พลังงาน กล่าวว่า จะต้องพิจารณาอีกครั้งว่าเงินลงทุนดังกล่าวจะนำมาจากไหน เพราะการลงทุนท่อน้ำมันอาจจะไม่มีภาคเอกชนลงทุน ต้องให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน หรือให้นำเงินจากส่วนใดมาลงทุน เช่น กองทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน(Infrastructure Fund) ซึ่งเมื่อมีการก่อสร้างท่อเสร็จแล้วก็อาจจะให้ภาคเอกชนมาเช่าดำเนินการ และรัฐจะคิดแต่ค่าบริหารจัดการ และผู้ประกอบการอาจจะสร้างคลังน้ำมันต่อจากท่อหลัก ก็จะทำให้ราคาน้ำมันราคาเดียวเกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้ การวางท่อส่งน้ำมันจะวางท่อหลักตามแผนก่อน และใช้รถบรรทุกน้ำมันมาขนส่งที่ปลายท่อกระขายไปยังพื้นที่อื่นๆ แต่หากมีความต้องการมากขึ้นในอนาคตก็อาจจะมีแผนก่อสร้างท่อเพิ่มเติมระยะที่ 2 ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 10 ข้างหน้า
ส่วนการตรวจเยี่ยมสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน(องค์การมหาชน) ได้รับรายงานเรื่องสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันติดลบอยู่ประมาณ 19,000 ล้านบาท และได้รับรายงานสถานการณ์ราคาแก๊สหุ้งต้ม(LPG)ในตลาดโลกในปีหน้า คาดว่าความต้องการใช้จะน้อยลง ทำให้ราคาเฉลี่ยนำเข้าจะอยู่ในช่วงประมาณ 800 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าในปีนี้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจับตาดู และจะมีผลกระทบในเรื่องราคา LPG คือ ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป สหรัฐอเมริกา และปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง
ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รายงานเรื่องการยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งขณะนี้กรมฯ ได้ออกประกาศให้ยกเลิกแล้ว และการยกเลิกทำให้ต้องมีการนำเข้าจีเบส ประมาณ 20-30 ล้านลิตรต่อเดือน โดยได้หารือกับโรงกลั่นน้ำมัน และผู้ค้าน้ำมัน เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้แล้ว คาดว่าจะไม่มีปัญหาการนำเข้า
นอกจากนี้ ยังมีการหารือกับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ เพื่อที่กรมฯ จะดูแลในเรื่องการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ ให้สามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้ และได้ขอความร่วมมือกับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ โรงกลั่นน้ำมัน กับผู้ค้าน้ำมัน ออกมายืนยันกับประชาชนว่า รถจักรยานยนต์ เครื่องยนต์ 4 จังหวะ สามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ได้
ทั้งนี้ ในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันจะเริ่มทยอยยกเลิกการผลิตน้ำมันเบนซิน 91 ในเดือนธันวาคมเป็นต้นไป เพื่อให้วันที่ 1 มกราคมปีหน้าเป็นต้นไป น้ำมันที่ออกจากโรงกลั่นจะไม่มีน้ำมันเบนซิน 91 แต่ในส่วนของสถานีบริการน้ำมันอาจจะต้องใช้เวลา 2-3 เดือน จึงจะยกเลิกการจำหน่ายเบนซิน 91 ได้ เพราะต้องรอให้สต๊อกน้ำมันหมดก่อน
ส่วนเรื่องการขนส่งน้ำมันทางท่อได้มีการศึกษาว่าใครจะเป็นผู้ลงทุน ซึ่งหากการก่อสร้างท่อแล้วเสร็จจะทำให้น้ำมันในประเทศมีราคาถูกลง และเมื่อมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ไทยจะมีศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่จะส่งออกน้ำมันไปประเทศลาว พม่า และประเทศอื่นในภูมิภาคนี้อย่างเปรียบได้
และเรื่องที่สาม คือ การสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของประเทศ คณะทำงานศึกษาในเรื่องนี้ได้มีการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแล รูปแบบการบริหารจัดการ และการจัดหาเงินมาลงทุน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องของเวลาที่เหมาะสมในการจัดเก็บน้ำมันสำรอง
ซึ่งในเรื่องนี้ รมว.พลังงาน ได้มอบหมายให้ไปศึกษาเพิ่มเติม และเอาผลศึกษาในโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะมีท่อส่งน้ำมัน และก่อสร้างคลังน้ำมัน หากสามารถที่จะนำมาใช้ได้ ก็อาจจะไม่ต้องดำเนินการตั้งคลังน้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งในแง่ของผลการศึกษาของกรมฯ มีข้อแตกต่างจากโครงการแลนด์บริดจ์ ในเรื่องของสถานที่ตั้งคลังน้ำมัน คณะทำงานเห็นว่าคลังน้ำมันที่จะใช้เก็บสำรองน้ำมันควรจะอยู่ใกล้กับโรงกลั่นน้ำมันเพื่อความสะดวกในการจัดเก็บ แต่ในโครงการแลนด์บริดจ์จะอยู่ในพื้นที่ภาคใต้