รมว.พลังงาน มอบกรมเชื้อเพลิงศึกษาแนวทางสัมปทานแหล่งก๊าซฯในอ่าวไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 14, 2012 16:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ.ว่า ได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ ปตท.สผ.เร่งจัดทำแผนรองรับเพื่อแก้ปัญหาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่จะหมดลงในอีก 20 ปีข้างหน้าว่าจะดำเนินการอย่างไร ควรจะต่ออายุสัมปทานให้ผู้รับสัมปทานรายเก่าหรือว่าจ้างบริษัทเอกชนรายใหม่ให้เข้ามาสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม หรือจะเป็นการเปิดสัมปทานรอบใหม่

ทั้งนี้ สำหรับสัมปทานปิโตรเลียมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสัญญาของบริษัท เชฟรอนสำรวจและผลิต จำกัด และ ปตท.สผ.ในแหล่งบงกชในอ่าวไทยจะหมดอายุสัมปทานในปี 65 เพราะตามกฎหมายปิโตรเลียมกำหนดให้ต่อสัญญาได้เพียงครั้งเดียวอายุ 10 ปี ซึ่งก็ได้มีการต่อสัญญาไปแล้ว หากสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมของทั้ง 2 สัญญาหมดลง จะกระทบต่อภาคการผลิตไฟฟ้าของไทย เพราะปัจจุบันไทยใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และหากต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)มาทดแทนอาจทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นด้วย โดยให้นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นกลับเข้ามาภายในเดือนธ.ค.นี้

ขณะที่การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ รอบที่ 21 ยังดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากยังมีผู้ไม่เห็นด้วย ดังนั้นจึงต้องเร่งทำความเข้าใจ หากประชาชนยอมรับก็จะดำเนินการต่อไป

โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงานมีแผนออกประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 จำนวน 22 แปลง ในช่วงเดือนก.ค.ที่ผ่านมา หลังได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการปิโตรเลียมแล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้จนถึงปัจจุบัน

ด้านนายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า แหล่งก๊าซฯ ที่สัญญาสัมปทานจะหมดลงในปี 65 ประกอบด้วย สัญญาของบริษัท เชฟรอน กำลังผลิตประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และแหล่งบงกชเหนือราว 900 ล้านลูกบาศก์/วัน ซึ่งจะมีผลต่อการผลิตไฟฟ้ารวม 14,000 เมกะวัตต์ โดยในส่วนเชฟรอน คาดว่าหลังปี 65 จะมีสำรองเหลืออีกประมาณอย่างน้อย 6 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ส่วนบงกชนั้นได้ให้ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการศึกษาว่าจะมีปริมาณสำรองคงเหลือเท่าใดต่อไป

สำหรับการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หากยังติดปัญหาเรื่องการทำความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่าง 2 ประเทศโดยเฉพาะเรื่องแขตแดนนั้นก็ยังไม่ต้องรีบดำเนินการ เพราะปตท.สผ.เองก็มีความสามารถในการหาแหล่งก๊าซฯ อื่นมาทดแทนได้ เพียงแต่ประชาชนอาจต้องใช้พลังงานในราคาแพงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ