อย่างไรก็ดี มองว่า AEC ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของอาเซียน แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายโอกาสที่จะรวมกับประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาอาเซียนมีความร่วมมือทางการเงินกับอาเซียน+3 (จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้) และยังมีความร่วมมือทางการค้ากับอาเซียน+6 (จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, อินเดีย และนิวซีแลนด์) ซึ่งถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่มากมีปริมาณการค้าเกือบ 30% ของการค้าโลก และจำนวนประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก
ทั้งนี้ การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการค้า การบริการ และการลงทุนใน AEC ยังมีเป้าหมายเชื่อมโยงภาคการเงินเข้าด้วยกัน เพื่อสนับสนุนการรวมตัวของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง แต่เนื่องจากประเทศสมาชิกยังมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน และภาคการเงินที่มีความอ่อนไหว ดังนั้นเป้าหมายการรวมกลุ่มทางการเงินใน AEC จึงขยายเป็นปี 2563 เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ปรับตัวและมีความพร้อม
นายประสาร กล่าวว่า เป้าหมายในการรวมกลุ่มทางการเงิน คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงระบบการเงิน รองรับการชำระค่าสินค้าและบริการ และการเปิดเสรีด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ดังนั้นการเปิดเสรีภาคธนาคารจึงช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจและการลงทุน มีการพัฒนาและเชื่อมโยงตลาดที่ธุรกิจต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน คือ การพัฒนาด้านตลาดทุน แต่ความเร่งด่วนอาจแตกต่างกันไปตามความพร้อมของประเทศสมาชิก รวมถึงการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการรวมตัวทางการเงินในอาเซียน แต่ต้องหาความสมดุลระหว่างความสะดวกของเงินทุนเคลื่อนย้าย การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละประเทศ
ทั้งนี้ การเปิดเสรีภาคธนาคารมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและประชาชนของ AEC ที่มีการค้าขายกันมากขึ้น โดยในปี 54ที่ผ่านมา ธุรกิจไทยลงทุนสุทธิในอาเซียนคิดเป็นมูลค่าราว 2,600 ล้านดอลลาร์ ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถให้บริการด้านการเงินเพื่อเพิ่มศักยภาพการลงทุนของธุรกิจไทยได้โดยใช้จุดแข็งที่มีความเข้าใจความต้องการลูกค้าไทย รวมถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทแม่
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการเปิดเสรีภาคธนาคารจะเกิดการแข่งขันที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านบริการทางการเงินลดลง มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของประชาชนใน AEC ได้ดีขึ้น
นายประสาร กล่าวว่า ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของไทย ฉบับที่ 2 ธปท.จะเริ่มทยอยเปิดให้มีการแข่งขันจากภายนอกมากขึ้น และมองว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความแข็งแกร่ง มีการบริหารจัดการที่มีความมั่นคง สามารถรองรับการแข่งขันได้ และมีการดำรงเงินกองทุนที่เพียงพอ ดังนั้นการเปิดเสรีภาคการธนาคารของไทยใน AEC จะทำให้ธนาคารสามารถแข่งขันได้ทันที
ส่วนการพัฒนาตลาดทุนนั้น จะทำให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลาย ทำให้ระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น ลดการพึ่งพาระบบธนาคาร ลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติทางการเงิน แต่อย่างไรก็ดี ตลาดทุนในอาเซียนยังมีขนาดเล็ก โดยตลาดหุ้นไทยมีขนาดเพียง 0.5% ของตลาดหุ้นโลก คิดเป็นอันดับที่ 30 แต่หากสามารถเชื่อมโยงตลาดทุนทั้ง 8 แห่งในอาเซียนจะมีขนาดใหญ่ถึง 1.98 ล้านล้านดอลลาร์ หรืออันดับ 9 ของโลก
ผู้ว่าฯ ธปท.มองว่า การเปิด AEC ดังกล่าว ภาคเอกชนไทยจะต้องปรับทัศนคติเพื่อฉวยโอกาสที่มาจากการรวมกลุ่มของ AEC โดยเฉพาะด้านการเงิน ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีภาคธนาคารนั้น ต้องการเห็นธนาคารพาณิชย์ไทยมองเป็นโอกาสมากกว่าข้อเสีย โดยให้ภาคธนาคารของไทยปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ตักตวงผลประโยชน์จากเงินทุน, เทคโนโลยี, ทรัพยากรมนุษย์ที่เคลื่อนย้ายโดยเสรียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ควรหาตลาดที่เหมาะสมกับจุดแข็งของตนเองเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศ และควรวางรากฐานการดำเนินธุรกิจในประเทศอาเซียน หากมีความแข็งแกร่งที่จะผ่านกฎเกณฑ์ CAD จึงควรถือโอกาสเปิดสาขาในต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV(กัมพูชา-ลาว-เมียนมาร์-เวียดนาม) ซึ่งถือเป็นตลาดเปิดใหม่ที่กำลังต้องการผู้นำทางพาธุรกิจและขยายฐานลูกค้าของธนาคารเอง