พร้อมกับได้เสนอ 3 แนวทางในการปรับตัวของผู้ประกอบการว่า แนวทางแรก นอกจากสิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA แล้ว ผู้ประกอบการควรใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงที่มีอยู่ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งในภูมิภาค รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน ซึ่งสามารถลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้ หากวางระบบการขนส่งอย่างรอบด้านผู้ประกอบการจะสามารถกระจายการผลิตที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ พร้อมกับการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรในการนำเข้าวัตถุดิบและส่งออกสินค้าได้อย่างเต็มที่
แนวทางที่สอง ยกระดับการผลิตของอุตสาหกรรมไทยให้สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญน้อยมาก โดยเห็นได้จากการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนไทยยังต่ำกว่าหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย จีน และเกาหลีใต้ แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ แต่ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถยกระดับตัวเองได้ เนื่องจากขาดเงินทุน ทักษะด้านการตลาด การออกแบบ รวมถึงการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน และแนวทางที่สาม คือการเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยการอุดหนุนการฝึกอบรมทักษะและทัศนคติในการทำงานแก่แรงงานตามความสามารถ ทักษะ และความถนัดของแรงงานนั้นๆ โดยการแจกคูปองการฝึกอบรม พร้อมกันนี้ควรสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้เพื่อลดต้นทุนด้วย
นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่าเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ภายใต้ความท้าทายต่างๆ นั้น กระบวนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรปรับขึ้นรวดเดียว แต่ควรทำอย่างเป็นระบบเพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ทัน โดยค่าแรงแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน ขึ้นอยู่กับระดับผลิตภาพและอัตราเงินเฟ้อในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ ควรพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแถบลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) โดยการปรับปรุงคุณภาพระบบคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะถนนและระบบราง และผลักดันให้เกิดการบังคับใช้ความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกการค้าระหว่างกัน (BTCA) โดยสมบูรณ์ รวมทั้งควรสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งล้วนเป็นตลาดเกิดใหม่ที่น่าสนใจ และในปัจจุบันมีการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนของประเทศเหล่านี้ เพื่อรองรับการตั้งโรงงานผลิตแล้วหลายแห่ง