ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นราคาสินค้าจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท ประชาชนสูงถึง 68.40% มีความกังวลว่าสินค้าจะมีการปรับตัวสูงขึ้น เพราะค่าแรงเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้า หากค่าแรงเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตสินค้าย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ 29.27% ไม่กังวล เพราะผู้ประกอบการหรือนายจ้างมีการปรับตัว เช่น ลดจำนวนแรงงาน ลดคุณภาพวัตถุดิบ ลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา เพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่วน 2.33% ไม่แน่ใจ
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 69.45% มองว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาท จะไม่ช่วยให้การออมเพิ่มมากขึ้น เพราะค่าครองชีพ ยังแพง อีกทั้งราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็มีการปรับตัวสูงขึ้น และปกติก็ไม่มีเงินออมอยู่แล้ว มีเพียง 25.66% ที่มองว่าจะช่วยให้การออมเพิ่มมากขึ้น เพราะมีรายได้/ค่าแรงเพิ่มมากขึ้น จึงมีเงินเหลือเก็บเป็นบางส่วน
สำหรับด้านการเลิกกิจการของผู้ประกอบการนั้น ประชาชน 48.84% ระบุว่า ไม่มีผล เพราะทุกวันนี้ค่าแรงส่วนใหญ่ก็เกือบ 300 บาท หรือมากกว่าอยู่แล้ว และผู้ประกอบการหรือนายจ้างต้องมีการปรับตัวให้อยู่ได้ ประชาชน 39.37% ระบุว่า มีผลทำให้เลิกกิจการ เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิต โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME
ด้านการปรับตัวของลูกจ้าง/แรงงานจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท ประชาชน 67.76% ระบุว่า ลูกจ้าง/แรงงาน ควรทำงานให้คุ้มค่าจ้าง รองลงมา 38.73% ควรขยันทำงานให้มากขึ้น 23.02% หมั่นเรียนรู้ฝึกฝนทักษะใหม่ๆ