ไตรมาส 3/55 การบริโภครวมขยายตัว 6.5% เร่งตัวขึ้นจาก 5.6% ในไตรมาสก่อนหน้า การบริโภคภาคครัวเรือนเร่งตัวขึ้นจาก 5.3% เป็น 6.0% ตามการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ภาคครัวเรือน และมาตรการคืนเงินภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันแรก ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัว 9.0% สูงขึ้นจาก 7.4% ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสามารถเบิกจ่ายงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ดีขึ้น รวม 9 เดือนแรกของปี การบริโภครวมเพิ่มขึ้น 4.9%
ขณะที่การลงทุนรวมขยายตัว 15.5% เร่งตัวขึ้นจาก 10.2% ในไตรมาส 2/55 ตามการเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน การขยายการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นถึง 18.2% ในขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัว 13.2% สูงขึ้นจาก 4.0% ในไตรมาสก่อนหน้า รวม 9 เดือนแรกของปี การลงทุนรวมขยายตัว 10.3%
ด้านภาคการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. มีมูลค่า 59,280 ล้านดอลลาร์ สรอ.หดตัว 3.0% เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมมีความล่าช้า และผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ส่งผลให้มูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 4.8% ในขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรหดตัว 25.4% ตลาดส่งออกที่หดตัว ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา (ลดลง 1.2%) สหภาพยุโรป (ลดลง 19.2%) ญี่ปุ่น (ลดลง 6.3%) และอาเซียน (ลดลง 9.0%) รวม 9 เดือนแรกของปี มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. หดตัว 0.9%
ภาคเกษตร ขยายตัว 8.6% เร่งตัวขึ้นจาก 1.8% ในไตรมาสก่อน ตามการขยายตัวของผลผลิตภาคเกษตร ทั้งหมวดพืชผล และปศุสัตว์ โดยเฉพาะข้าวเปลือก มันส ปะหลัง และยางพารา ที่ขยายตัวสูง 57.7% 27.0% และ 8.3% ตามลำดับ ทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 2.4% รวม 9 เดือนแรกของปี ภาคเกษตรขยายตัว 4.3%
ภาคการก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 9.8 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 6.9 ในไตรมาสก่อน ตามการขยายตัวของสาขาก่อสร้างภาครัฐที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 และการก่อสร้างภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 รวม 9 เดือนแรกของปีภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 6.1
ภาคการค้าส่งค้าปลีก ขยายตัว 4.1% ชะลอลงจาก 5.4% เนื่องจากการหดตัวของการค้าในหมวดวัตถุดิบทางการเกษตรและสัตว์มีชีวิตตามการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออก ในขณะที่การค้าหมวดยานยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิงขยายตัว รวม 9 เดือนแรกของปี ภาคการค้าส่งค้าปลีกขยายตัว 4.6%
สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวต่อเนื่อง 6.9% ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 5.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.4% รวม 9 เดือนมีจำนวน 15.9 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 8.6% คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีจะเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 20.5 ล้านคน รวม 9 เดือนแรกของปี สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัว 7.0%
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม หดตัว 1.1% เทียบกับการขยายตัว 2.8% ในไตรมาสก่อน เนื่องจากการหดตัวของอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เซมิคอนดักเตอร์ และอาหารทะเลแช่แข็ง หดตัว 37.2%, 27.8% และ 24.6% ตามลำดับ จากผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวม ขณะที่ผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากอุทกภัยในปี 54 สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการคืนภาษีแก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก รวม 9 เดือนแรกของปีภาคอุตสาหกรรมหดตัว 0.9%