นาย
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)กล่าวถึงผลกระทบจากการปรับ
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 70 จังหวัดทั่วประเทศในปี 56 ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นความประสงค์ของรัฐบาลที่จะปรับรายได้แรงงานไร้ฝีมือให้สูงขึ้นจนสามารถครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐาน และเพื่อให้สะท้อนผลิตภาพของแรงงานได้อย่างแท้จริง ซึ่งการปรับ
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 55 เป็น 300 บาท/วัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 39.5% จากปีก่อน แต่การปรับ
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 70 จังหวัดที่เหลือในปี 56 คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 23.5% จากปีนี้ ซึ่งทำให้เห็นอัตราส่วนการเพิ่มขึ้นของปี 56 ที่น้อยกว่าปี 55 ดังนั้น ผลกระทบจากการปรับ
ขึ้นค่าแรงในปี 56 คงจะไม่มากนัก และสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนสินค้าได้น้อยกว่าในปีนี้
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าจะมีผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อกลุ่มผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย(SMEs) แต่รัฐบาลก็ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือทั้งด้านการเงิน และภาษีออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองก็จำเป็นต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงาน การปรับการบริหารจัดการภายในของธุรกิจเอง เพราะหากไม่มีการปรับตัวแล้วก็จะเกิดผลกระทบอย่างแน่นอน
"ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากก็ต้องเอาเครื่องมือเครื่องจักรมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อทดแทนแรงงาน ปรับการบริหารจัดการภายในองค์กรเอง ถ้าไม่ทำคงมีผลกระทบแน่ จำเป็นที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัว" เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว
อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร โทร.02-2535000 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--