ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนการเชื่อมโยงดังกล่าว และในฐานะนักลงทุนสำคัญในภูมิภาค และมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการตามแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน ด้วยเทคโนโลยีของญี่ปุ่น เงินทุน และประสบการณ์จะช่วยขับเคลื่อนโครงการสาธารณูปโภคต่างๆที่เชื่อมโยงอาเซียน รวมทั้งโครงการเสริมภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง — อาเซียน ไทยมีความพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับญี่ปุ่น และพร้อมส่งเสริมเงินทุนเพื่อการพัฒนาจำนวน 77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมาตรการต่างๆนั้นรวมถึง การพัฒนาระบบภาษีตามเขตชายแดน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมการค้าตามแนวชายแดน ลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ และการจัดตั้ง ASEAN Single Window ด้วย
ด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ ขณะนี้ศูนย์ลดภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADRC) ในญี่ปุ่นและศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) ของไทย ได้หารือร่วมกันจนใกล้ได้ข้อสรุปในการจัดทำโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการอุทกภัยร่วมกัน ด้วยการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนข้อมูลและแลกเปลี่ยนทรัพยากรมนุษย์ โดยนายกรัฐมนตรีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือเหล่านี้จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ซึ่งสำหรับความสนใจของญี่ปุ่นในการเข้ามาลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแนะนำระบบบริหารจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีระดับสูงและระบบการจัดการฟื้นฟูภัยพิบัติแก่ไทย
ด้านการค้าการลงทุน อาเซียนและญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์อันดีในด้านการค้าการลงทุนมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งยังมีการจัดตั้งความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) และแผนยุทธศาสตร์ร่วมมือเศรษฐกิจ 10 ปี ระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งจะมีส่วนอย่างยิ่งในการรับมือกับความท้าทายด้านการค้าการลงทุน รวมถึงการสร้างโอกาสในการลงทุนใหม่ๆให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กด้วย และเพื่อเป็นการฉลองความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ครบรอบ 40 ปี ไทยจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ญี่ปุ่นรับเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Commemorative) ในปีหน้า