“สถานการณ์ลงทุนปัจจุบันสวนทางกับเงื่อนไขการลงทุนของ กบข.ที่กำหนดให้ลงทุนในตราสารหนี้ไม่น้อยกว่า 60%แต่เป้าหมายสร้างผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่โครงสร้างอายุของสมาชิก กบข.เฉลี่ยรวมลดลงจาก 50 ปี เหลือ 44 ปี ทำให้มีระยะเวลาสร้างผลตอบแทนยาวนานขึ้น ดังนั้น กบข.จึงได้วางแผนปรับเปลี่ยนแนวทางสำหรับแผน SAA ฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสให้สมาชิกมีเงินออมเพียงพอในวัยเกษียณ"นางสาวโสภาวดี กล่าว
ทั้งนี้ กบข. มีแนวทางการจัดทำแผน SAA ฉบับใหม่ ดังนี้ 1. ปรับหลักการกำหนดเป้าหมายการลงทุน กรอบความเสี่ยงและจัดทำแผนลงทุน โดยพิจารณาจากความเพียงพอของเงินออมเมื่อเกษียณ(Terminal Wealth) ของสมาชิกเป็นหลัก
2.ปรับหลักคิดในการจัดกลุ่มสินทรัพย์การลงทุน จากเดิมจัดกลุ่มตามประเภทหลักทรัพย์ (Asset Class) เปลี่ยนเป็นจัดกลุ่มตามบทบาทของหลักทรัพย์ในแต่ละช่วงวงจรเศรษฐกิจ (Asset Role) โดยจากเดิมที่จัดสรรการลงทุนไปยังหุ้นหรือตราสารหนี้ มาเป็นการจัดสรรการลงทุนตามกลุ่ม เช่นกลุ่มหลักทรัพย์เพื่อการเติบโต (Growth Group) ที่ประกอบไปด้วยหุ้นทั้งในและต่างประเทศ
รวมทั้ง Private Equity ที่มีบทบาทช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้กองทุนในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น หรือกลุ่มหลักทรัพย์ช่วยกระจายความเสี่ยง (Diversifiers) ซึ่งประกอบไปด้วยตราสารหนี้รัฐบาลในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market Debt) และตราสารหนี้เอกชน ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วแต่ต่ำกว่ากลุ่มหลักทรัพย์เพื่อการเติบโต เป็นต้น
3. ปรับหลักเกณฑ์การลงทุนในปัจจุบัน ให้สอดคล้องกับการปรับหลักการจัดทำแผน SAA ที่พิจารณาความเพียงพอของเงินออมเมื่อเกษียณของสมาชิก โดยอาจต้องปรับลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ลง และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน พร้อมทั้งกระจายการลงทุนไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น
นางสาวโสภาวดี กล่าวว่า แผน SAA ฉบับใหม่ของ กบข.นั้นจะมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนสินทรัพย์การลงทุนได้ตามวงจรเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้สมาชิกสูงขึ้น คาดว่าจะได้ผลสรุปแนวทางการจัดทำแผน SAA ฉบับใหม่ พร้อมนำเสนอต่อคณะกรรมการภายในสิ้นปี 55 และจะเริ่มปรับใช้ได้ตั้งแต่ปี 56 เป็นต้นไป