ด้านนายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรียังได้เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs) ซึ่งประกอบด้วย 6 ประเภทมาตรการใหญ่ และ 27 มาตรการย่อย ดังนี้
1.มาตรการลดภาระต้นทุนจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น เช่น การลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้าง, การจัดตั้งกองทุนการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ประกอบการ, การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น
2.มาตรการยกระดับผลิตภาพแรงงาน เช่น การนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 มาหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า เฉพาะผู้ประกอบการ SMEs, การให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 เพื่อใช้ในากรฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น
3.มาตรการทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เช่น สินเชื่อเพิ่อส่งเสริมการจ้างงาน สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสร้างสภาพคล่องสถานประกอบการ และเพิ่มผลผลิตแรงงาน, สินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต เป็นต้น
4.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของ SMEs เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต, การหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร เป็นต้น
5.มาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการผ่านการใช้จ่ายภาครัฐ เช่น การปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ, การหาตลาด/เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้ผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น
6.มาตรการช่วยลดค่าครองชีพให้ลูกจ้างและประชาชนทั่วไป เช่น การออกบัตรลดราคาสินค้าให้ลูกจ้าง, การลดภาระหนี้สินนอกระบบ และการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น