ส.อ.ท.ยกร่างข้อเสนอต่อนายกฯเยียวยา-ช่วยเหลือเอกชนรับผลกระทบขึ้นค่าแรง 300

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 20, 2012 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวภายหลังการประชุมระดมความคิดเห็นผลกระทบและเสนอแนวทาง มาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อรองรับการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทในวันที่ 1 ม.ค.56 ว่า ส.อ.ท.มีข้อเสนอต่อรัฐบาลที่จะช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี)

ทั้งนี้ ส.อ.ท.จะเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนการจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ประกอบการ, มีมาตรการลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสด ประกอบด้วย ลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเหลือฝ่ายละ 2.5% เป็นเวลา 3 ปี, ให้นำค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นไปหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนชำระภาษีเงินได้ได้ 2 เท่า, คืนภาษี VAT ให้กับเอสเอ็มอีทันที 3 ปี รวมทั้ง ลดภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ลงในอัตรา 50% เป็นเวลา 3 ปี อีกทั้งลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับเอสเอ็มอีจาก 3% เป็น 0.1%

พร้อมทั้งควรมีเกณฑ์การช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เหมาะสม เช่น ตามโซนนิ่งที่ได้รับผลกระทบมากก่อน 80-90% จำนวน 29 จังหวัด, ได้รับผลกระทบ 70-79% จำนวน 25 จังหวัด, ได้รับผลกระทบ 60-69% จำนวน 11 จังหวัด และ ได้รับผลกระทบ 50-59% จำนวน 5 จังหวัด ตามประเภทอุตสาหกรรม โดยควรช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มที่ใช้แรงงานมากก่อน เช่น เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เป็นต้น และ ตามขนาดของผู้ประกอบการ

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า ส.อ.ท.จะนำเสนอมาตรการเยียวยาทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ต่อนายกรัฐมนตรี โดยได้มีการขอนัดพบนายกรัฐมนตรีไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ

ด้านนางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล รองประธาน ส.อ.ท.สายงานกลุ่มอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคเอกชนคงไม่สามารถหยุดยั้งการดำเนินนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศได้ แต่อยากให้นโยบายนั้นยืนอยู่บนความถูกต้อง และธุรกิจสามารถอยู่ได้

ส่วนนายสมมาตร ขุนเศรษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท.กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทนั้นทาง ส.อ.ท.ได้ติดตามมายาวนานและมีการผลักดันให้รัฐบาลเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งตอนนี้ประเด็นค่าแรง 300 บาทเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อเสรษฐกิจ ตนไม่อยากให้ผู้ประกอบการล้มตายจากการปรับขึ้นค่าแรง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ