ทั้งนี้ ทั้ง 16 ชาติต้องการให้อาร์เซพเป็นความตกลงที่มีคุณภาพสูงและทันสมัยบนผลประโยชน์ร่วมกันอย่างรอบด้าน ในการสนับสนุนการขยายการค้า และการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน
สำหรับข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นความตกลงยุคใหม่ของอาเซียน ที่จะพัฒนาต่อยอดจากความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ที่อาเซียนมีอยู่แล้ว 5 ฉบับกับทั้ง 6 ประเทศ (เอฟทีเออาเซียน-จีน, อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลี, อาเซียน-อินเดีย และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ครอบคลุมทุกมิติการค้า ทั้งการค้าสินค้า-บริการ การลงทุน มาตรการการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การค้า และการลงทุน มีการปรับกฎกติกาทางการค้าต่างๆ และกฎถิ่นกำเนิดสินค้าให้สอดคล้องกันมากขึ้น ซึ่งจะอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนได้มากกว่าความตกลงที่มีอยู่ เพื่อเสริมโอกาสการค้าและลงทุนในตลาดที่มีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันสูงถึง 17.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
"การเจรจาอาร์เซพ ไทยดำเนินการได้ทันที เพราะรัฐสภาได้เห็นชอบกรอบการเจรจาความตกลงเอฟทีเอของไทยภายใต้การเจรจาอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่มไว้แล้วเมื่อเดือนพ.ย.52 ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 50 โดยอาร์เซพจะเป็นยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศตามนโยบายของรัฐบาลในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนของประเทศ และเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการรักษา ขยายโอกาส และขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่สำคัญของประเทศ" นายบุญทรง กล่าว
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาการเปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียน+6 โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พบว่าความตกลงดังกล่าวจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ของไทยเพิ่มขึ้นอีก 4.03% และเพิ่มสวัสดิการสังคมคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,560 ล้านเหรียญฯ ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นของสินค้าหลายกลุ่ม เช่น ผัก ผลไม้แปรรูป อาหารแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบของยานพาหนะ ยางพารา และพลาสติก เป็นต้น
โดยในปีที่ผ่านมา ไทยค้าขายกับประเทศในกลุ่มอาร์เซพคิดเป็นมูลค่ากว่า 255,000 ล้านเหรียญฯ หรือ 56% ของยอดรวมการค้าของไทย