กูรูไทย-เทศมองราคาประมูล 3G เหมาะสม แต่แนะเพิ่มผู้ให้บริการ-เปิดโอกาสแข่งขัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 21, 2012 12:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเจอร์ราด โพโกเรล นักเศรษฐศาสตร์แห่ง Ecole Natinale Superieure des Telecommunications ระบุว่า ราคาประมูลคลื่นความถี่ 3G ของไทยถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม แม้จะมีกระแสวิจารณ์ว่าเป็นราคาที่ต่ำเกินกว่าที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกันได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะมีผู้ให้บริการจำนวนน้อย ดังนั้นจึงไม่มีแรงจูงใจในการเข้าประมูลมากนัก โดยจำนวนผู้ประมูลที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 4 ราย และการเข้ามาของผู้ให้บริการในตลาดของไทยทำได้ง่าย เพราะสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานเดียวกันกับผู้ให้บริการก่อนหน้า

ทั้งนี้ การประมูลคลื่นความถี่ถือเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาประเทศภายใต้เศรษฐกิจเชิงพลวัติ แต่ปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการโทรศัพท์หรือการใช้บริการอินเตอร์เน็ต ดังนั้น ทำให้ต้องกำหนดอัตราค่าบริการที่เหมาะสมและมีความหลากหลายตามไปด้วย

ส่วนการให้บริการอินเตอร์เน็ตสาธารณะนั้น รัฐบาลทั่วโลกส่วนใหญ่มองว่าเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจะสามารถเป็นแหล่งรายได้มหาศาลให้แก่รัฐบาลได้ นอกจากนี้ บริษัทผู้ให้บริการที่มีจำนวนน้อยรายอาจนำไปสู่ระบบผูกขาดได้ เช่น ในสหรัฐฯ มีเพียง 2 บริษัทที่ให้บริการ คือ Verizon และ AT&T ดังนั้น จึงควรเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการมากกว่า 2-3 ราย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน และเพื่อผลักดันบริษัทผู้ให้บริการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น

ด้านอัตราค่าบริการนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องขอความคิดเห็นจากประชาชนและผู้ให้บริการเครือข่ายเพื่อกำหนดกรอบการให้บริการและคิดอัตราค่าบริการที่เหมาะสม โดยอาจต้องเก็บค่าธรรมเนียมรายปี(Yearly Fee)กับผู้ให้บริการมากกว่าการให้ผู้ให้บริการจ่ายชำระเป็นงวดเดียว เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงและส่งผลกระทบต่อค่าบริการที่เรียกเก็บกับผู้บริโภค

นายเจอร์ราด กล่าวเพิ่มเติมว่า อัตราค่าบริการของไทยยังอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอัตราค่าบริการระบบเสียง หรือ Voice ที่ในสหรัฐฯ มีค่าบริการเพียงเดือนละ 1-2 ดอลลาร์เท่านั้น

ขณะที่นายสุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานสถาบันวิชาการนโยบายสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล กล่าวว่า กรณีที่มีการตรวจสอบเรื่องการประมูลใบอนุญาต 3 จีที่อยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบนั้น โดยส่วนตัวแล้วอยากให้มีการดำเนินงานควบคู่กันไประหว่างการตรวจสอบและการออกใบอนุญาต เนื่องจากไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการพัฒนาประเทศไทยยังคงต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะภาคธุรกิจเทคโนโลยี 3G จะเข้ามามีส่นช่วยในการพัฒนาการค้าการให้บริการได้เป็นอย่างมาก

สำหรับเรื่องการตรวจสอบนั้น ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจของศาล ดังนั้นการทำงานคู่กันระหว่างการตรวจสอบซึ่งเป็นเชิงทฤษฎี กับการออกไปอนุญาตให้บริการเทคโนโลยี 3 จีน่าจะสามารถทำควบคูกันได้โดยไม่มีฝ่ายใดได้รับความเสียหาย

"เราไม่ได้หยุดทุกอย่าง เราต้องเดินหน้าตรวจสอบต่อไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง กสทช.ต้องตรวจสอบความชอบทางสัญญาสัมปทานเดิม เพื่อดูว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายนี้ออกกฎโดยชอบได้หรือไม่" นายสุธรรม กล่าว

ทั้งนี้ การประมูลใบอนุญาต 3 จีที่ผ่านมาเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก การตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินการจึงเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นหากตรวจสอบให้เป็นบรรทัดฐาน การประมูลในครั้งต่อไปก็จะเริ่มมีกรอบการดำเนินการมากขึ้น โดยเฉพาะการประมูลเทคโนโลยี 4จีในอนาคตต

ส่วนราคาประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 3G นั้น นายสุธรรม กล่าวว่า การกำหนดเพดานราคามีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ 1.ความมั่นคงของการให้สัมปทาน ซึ่งในประเทศไทยความมั่นคงของสัมปทานที่เอกชนได้รับถือว่าอยู่ในระดับต่ำ และมีความเสี่ยงต่อการถูกเข้ามาแทรกแซงสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

2.รูปแบบของการกำกับดูแล ซึ่งในประเทศไทยหน่วยงานที่กำกับดูแลก็คือกสทช. ถือเป็นหน่วยงานใหม่ที่ยังไม่มีผลงาน ไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้ และ 3.ความน่าสนใจของทรัพย์ที่นำมาประมูลในที่นี้คือเทคโนโลยี 3G ซึ่งต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยี 2G จนสามารถให้บริการได้เกือบเทียบเท่าเทคโนโลยี 3G

ดังนั้น หากพิจารณาทั้ง 3 ปัจจัยจะเห็นได้ว่าราคาค่อนข้างเหมาะสม แม้จะได้รับการวิจารณ์จากสังคมในหลายกระแสก็ตาม พร้อมให้ความเห็นส่วนตัวว่าราคาตั้งต้นการประมูลใบอนุญาตคลื่น 3จี มีราคาสูงเกินไป ซึ่งควรจะมีการปรับลดราคาลง 2% หรืออยู่ที่ 4,410 ล้านบาท


แท็ก 3G  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ