ประเด็นที่คณะทำงานพิจารณาจะดูเพียงประเด็นเดียว คือ ผู้เข้าร่วมประมูล ทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวเลส เน็ตเวิร์ค บริษัทลูก ของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC), บริษัท ดี แทค เน็ตเวิร์ค จำกัด บริษัทในเครือ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) มีพฤติกรรมการฮั้วประมูล หรือ สมยอมราคาหรือไม่ โดยจะดูตั้งแต่ก่อนการประมูล ระหว่างการประมูล และภายหลังการประมูล ซึ่งคณะทำงานตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่ามีเอกชนฮั้วประมูล และทั้ง 3 รายได้สู้ราคาตามปกติถูกต้องทุกขั้นตอน และทำตามประกาศที่กสทช.กำหนดทุกอย่าง
ยืนยันว่าการสอบสวนต้องพิจารณาหลายมิติ ทั้งด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ ผลประโยชน์ของชาติ ประโยชน์ประชาชน รวมถึงเอกชนในการลงทุนด้วย เพราะเอกชนต้องลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งการดำเนินการก็ต้องมีความคุ้มทุนถึงกล้าเข้ามาประมูล รวมถึงต้องมองไปถึงการลงทุนการประมูลในอนาคตด้วย ซึ่งในมุมของรัฐมองว่าจะได้ผลประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ ส่วนประชาชนจะได้รับการบริการที่ดี ราคาที่เหมาะสมเป็นนธรรมหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา คณะทำงานได้ขอขยายเวลาการสอบรวม 2 ครั้ง และจะสรุปภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้
"เราต้องเร่งทำในเวลาที่เหมาะสม เพราะการสอบจะส่งผลกระทบกับเอกชนที่ประมูลได้ เพราะมีการลงทุนไปแล้ว และเสียดอกเบี้ยรายเดือน แต่ขณะนี้ยังเริ่มงานไม่ได้ หากสรุปผลได้เร็ว กสทช.ก็จะเร่งออกใบอนุญาตให้ได้ ซึ่งตามปกติ กสทช.ต้องออกใบอนุญาตให้เอกชนใน 7 วัน" นายสุวิจักษณ์ กล่าว