นักวิชาการ เสนอมุมมองเกี่ยวกรณีการประมูลคลื่นความถี่ว่า ควรมีการแก้กฎหมายต่างๆ ให้เกิดความชัดเจนมากกว่านี้ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวถือว่ามีผลกระทบต่อหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ, ผู้บริโภค, ผู้กำกับดูแล และประเทศชาติเอง ซึ่งต้องทำให้เกิดความสมดุล พร้อมทั้งมองว่า ไม่ควรนำการประมูลในครั้งนี้ไปเป็นบรรทัดฐานสำหรับการประมูลในคราวหน้า
นายวีรชาติ กิเลนทอง อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การให้บริการ 3G จะทำให้โอกาสในเมืองไทยมีสูงขึ้น ประชาชนได้ใช้เทคโนโลยีดีขึ้น และราคาค่าบริการถูกลง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่พร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และเชื่อว่าจะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม
ทั้งนี้เรื่องของราคาตั้งต้นการประมูลอยู่ในระดับสูงหรือต่ำนั้นไม่น่าจะเป็นประเด็น เนื่องจากไม่น่าจะมีผลกระทบต่อค่าบริการในอนาคต ซึ่งควรที่จะมองในเรื่องของกติกาการประมูลมากกว่า และในการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งหน้าควรจะทำให้น่าสนใจขึ้น ไม่ควรนำบรรทัดฐานการประมูลในครั้งนี้ไปเป็นแบบอย่างการประมูลในครั้งหน้า
นอกจากนี้ มองว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคแห่งชาติ(กสทช.) ควรมีความหลากหลายในการประเมินราคา และทำให้เห็นด้วยว่าแต่ละวิธีมีการประเมินอย่างไร ไม่ควรยึดวิธีเดียว
ทั้งนี้โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยต่อการควบคุมราคาของ กสทช. เนื่องจากเป็นนโยบายที่ไม่ดีและอาจจะเกิดการฮั้วกันได้ อย่างไรก็ดี เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเข้ามาดูแลให้เกิดการแข่งขัน ไม่ใช่ไปจัดการปัญหาที่ราคา
ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การที่เอกชนเข้าร่วมประมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ถือว่าการประมูลนั้น ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายฮั้ว เนื่องด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ใช้กับกรณีเสนอราคาเพื่อทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ในกรณีดังกล่าวอาจเป็นที่กังวลใจแก่หลายฝ่ายว่าอาจมีการสมยอมราคากัน ซึ่งวิธีแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้มีการฮั้วเกินขึ้นนั้น ต้องเข้าไปแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 เพื่อยื่นข้อเสนอเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานรัฐ และยังครอบคลุมไปถึงการยื่นข้อเสนอเพื่อให้ได้ใบอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐด้วย
ส่วนเรื่องการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมเป็นอำนาจของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.)ไม่ใช่อำนาจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคแห่งชาติ(กสทช.)นั้น มองว่าอนาคตเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการตีความเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่าง กสทช.และ กทค.ก็ควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโดยแบ่งบทบัญญัติแยกเป็นรายมาตรา
"เรื่องที่เป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ก็แยกเป็นมาตราหนึ่ง เรื่องที่เป็นอำนาจหน้าที่ของ กทค.ก็แยกเป็นอีกมาตราหนึ่ง"
อย่างไรก็ดี แม้ กสทช.จะเป็นองค์กรอิสระแต่ยังอยู่ในการควบคุมตรวจสอบจากศาลปกครอง ทำให้การออกคำสั่งทางปกครอง การออกใบอนุญาต การลงโทษทางปกครอง ศาลปกครองย่อมมีอำนาจลงไปควบคุมความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะควบคุมได้มากขนาดไหนต้องแยกเป็นกรณีไป
นายปิยบุตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การกำกับดูแลทางเศรษฐกิจซึ่งมีผู้เล่นหลายคน ไมว่าจะเป็นผู้ประกอบการ, ผู้บริโภค และผู้กำกับดูแลนั้น จะต้องทำให้ 3 ส่วนนี้เกิดความสมดุลกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของชาติ ในขณะเดียวกันต้องมีกระบวนการตรวจสอบต่อไปด้วย