อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงทางด้านความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า โดยมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น 8.95% และมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาไฟฟ้าดับในอีก 2 ปีข้างหน้า กระทรวงพลังงานได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 20,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ไฟฟ้าในประเทศมีเพียงพอกับปริมาณการใช้ในอีก 10 ปีข้างหน้า และแนวโน้มราคาค่าไฟฟ้าจะมีโอกาสถูกลง และมอบหมายให้ทาง กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น โดยรับซื้อจากลาวเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ จากเดิมที่ 7,000 เมกะวัตต์ และรับซื้อจากพม่าเพิ่มอีก 10,000 เมกะวัตต์
ขณะที่การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินนั้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้กฟผ.ไปพิจารณา โดยมีโครงการนำร่องคือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ โดยได้รับความสนับสนุนจากประชาชน พร้อมสร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อเป็นการกระจายสัดส่วนการใช้พลังงานผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพราะแนวโน้มของก๊าซธรรมชาติในอีก 8 ปีข้างหน้าอาจจะหมดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงอื่นขึ้นมาทดแทน เพื่อทำให้ประเทสสามารถแข่งขันได้ และลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนพลังงานทางเลือกอื่น ปัจจุบันมีแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยตั้งเป้ากำลังผลิตรวมไว้ที่ 2,000 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันมีผู้ลงทุนยื่นขอการสนับสนุนจากภาครัฐ 4,000 เมกะวัตต์ แต่ยังต้องการพิจารณาสัดส่วนที่เหมาะสมจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าไฟฟ้า เพราะถ้ามีการผลิตทั้งหมดตามที่ขอมาก็จะทำให้ค่า FT เพิ่มขึ้น 30 สตางค์/หน่วย ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย พร้อมทั้งอยู่ระหว่างการทบทวนค่า adder ที่เหมาะสม แต่อัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ยังคงเป็น 12-13%
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า บริษัทฯมีความพร้อมที่จะรับมือกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปิด AEC ในปี 58 ซึ่งจะมีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนจำนวนมาก แต่จำเป็นต้องมีความมั่นใจในระบบคมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวกและระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงระบบไฟฟ้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ทำให้บริษัทฯจำเป็นต้องขยายโรงไฟฟ้าเพื่อสามารถผลิตไฟฟ้าป้อนโรงงานอุตสาหกรรมที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็วเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ AEC
ส่วนแผนการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม นางปรียนาถ กล่าวว่า กลุ่ม บี.กริม เพาเวอร์มีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 10 โรง ซึ่งจะทำให้มีโรงไฟฟ้าเพิ่มเป็น 16 โรง จากเดิมที่ที่มีโรงไฟฟ้าเปิดดำเนินการอยู่แล้ว 4 โรง โดย 3 โรงตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี และอีก 1 โรงตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้เบียนโฮ ประเทศเวียดนาม และกำลังก่อสร้างอีก 2 โรงในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง พร้อมเปิดดำเนินการในปีหน้า
ปัจจุบันบริษัทฯมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 500 เมกะวัตต์ สำหรับจำหน่ายไฟฟ้าให้กับกฟผ. และจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่ง ประมาณ 300 ราย โดยตั้งเป้าที่จะสร้างโรงไฟฟ้าอีก 10 โรงให้แล้วเสร็จภายในปี 62 โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 16 โรงจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ สามารถแจกจ่ายไฟฟ้าให้กับโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนกว่า 800 แห่งใน 6 นิคมอุตสาหกรรม
ด้านนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม โดยในปี 55 มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 26,121 เมกะวัตต์ในเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้น 9.3% จากปี 54 ที่อยู่ในระดับ23,900 เมกะวัตต์ และคาดว่าในปี 56 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 26,950 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 3.51%
ทั้งนี้ ในปี 73 ตามแผนจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดถึง 53,000 เมกะวัตต์ ทำให้กระทรวงพลังงานกำหนดแผนการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอ ทั้งกฟผ.ผลิตเอง การรับซื้อไฟฟ้าในและต่างประเทศ การส่งเสริมให้ภาคเอกชนทั้งรายใหญ่และรายเล็กผลิตไฟฟ้า โดยเอกชนที่มีความพร้อมมีบทบาทในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะเมื่อ AEC มาถึงผู้ผลิตในภาคเอกชนเหล่านี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของ กฟผ.ในการจ่ายไฟฟ้าให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆได้มาก
ด้านความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าและราคาค่าไฟฟ้าของไทย นายสุทัศน์ กล่าวว่า อัตราค่าไฟฟ้าของไทยไม่ได้ต่ำกว่าเพื่อนบ้าน แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่ในระยะยาวก็ยังอาจเกิดปัญหาขึ้นได้ เพราะโครงสร้างการผลิตไฟฟ้ายังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติอยู่ถึง 70% ทำให้ค่าไฟฟ้าในอนาคตอาจแพงขึ้นเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน เพราะมีต้นทุนสูงอยู่ที่ 4-5 บาท/หน่วย ซึ่ง กฟผ.เห็นว่าการใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานถ่านหินสะอาดน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของไทย เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าอยู่ที่ 2-2.50 บาทต่อหน่วย และไม่ได้ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
นายเจน นำชัยศิริ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เมื่อมีการเปิด AEC แล้วจะก่อให้เกิดสัญชาติอาเซียน แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนนอกอาเซียนเข้ามาตั้งฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน เช่น จีน ซึ่งมีผลต่อความต้องการในปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คาดว่าภาคอุตสาหกรรมน่าจะมีการขยายตัวอย่างมาก มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น เนื่องจากมีการใช้เครื่องจักรเพิ่มมากกว่าการใช้แรงงานคน ทำให้ต้องมีการผลิตไฟฟ้าที่มีความเพียงพอต่อความต้องการ เพราะไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมถือเป็นปัจจุยหลักที่จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมขับเคลื่อนไปได้
“ถ้าดูจากการขยายตัวของGDP คาดการณ์ไว้ที่ 5-6% ใน 3-5 ปีข้างหน้า ถ้ายังเป็นตัวเลขนี้อยู่จะทำให้การขยายตัวของไฟฟ้าเติบโตขึ้นประมาณ 1% ต่อปี" นายเจน กล่าว
สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานถ่านหินสะอาด เป็นเรื่องที่สนับสนุน เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่ให้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ แต่อาจมีคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าก๊าซธรรมชาติบ้าง จึงต้องมีแผนรองรับในการถ่วงดุล คือ แผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มารองรับเอาไว้ ซึ่งต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้มีการยอมรับ เพราะการพึ่งพิงพลังงานทางเลือกอื่น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม มีข้อจำกัดมาก อาจทำให้ผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการได้ และไม่สามารถพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติได้ตลอด