“คิดว่าเราไม่ได้รับอานิสงก์จากการดูแลสภาพคล่องของสหรัฐ และเรามีความพร้อมของเราเพียงพอ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ดูแลสภาพคล่องที่ล้นเกินไป เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการสภาพคล่องต่างๆถือเป็นการดำเนินด้านการเงิน ส่วนด้านการคลัง เราก็มีแผนลดขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีที่แล้ว ขาดดุลงบประมาณ 4 แสนล้านบาท ปีนี้เหลือ 3 แสนล้านบาท ปีหน้าเหลือ 2 แสนกว่าล้าน" นายกิตติรัตน์ กล่าว
สำหรับ Fiscal cliff ที่เป็นเครื่องมือทางการคลังที่สหรัฐกำลังดำเนินการ รวมถึงการดูแลด้านการเงิน โดยมี QE ควบคู่กันไปด้วย จะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงตึงตัวเฉียบพลัน แต่ถือเป็นการสร้างวินัย และน่าจะเป็นข่าวดี ดังนั้นจึงมอง Fiscal cliff ไม่ได้น่ากังวล หากมีการดำเนินการแบบระมัดระวัง
ส่วนสถานการณ์การเมืองในประเทศ ยอมรับว่านักลงทุนต่างประเทศมีความกังวลว่าการเมืองไทยมีความมั่นคงจริงหรือไม่ ซึ่งได้ชี้แจงว่าการเมืองไทยมีความมั่นคงมากขึ้น และรัฐบาลตั้งใจทำงานที่ดี มีความมุ่งมั่นทำงานให้ประเทศ
“การเมืองที่ไม่มั่นคงในสายตาต่างประเทศบางส่วนทำให้ต้องระมัดระวัง ไม่ให้มีการทุจริตทั้งภาคราชการและเอกชน เช่นในตลาดหุ้น หากผู้ลงทุนคลางแคลงใจ ก็ทำให้มีการหยิบยกเรื่องธรรมาภิบาลมาใช้" นายกิตติรัตน์ กล่าว
ขณะที่การชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 24 พ.ย.55 ถือว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
ส่วนโครงการรับจำนำข้าว ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ท้วงติงนั้น มองว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อรัฐบาลนี้นำโครงการรับจำนำข้าวมาใช้ เพราะ ทีดีอาร์ไอ ทักท้วงมาตลอด ขณะที่รัฐบาลก่อน ใช้วิธีการประกันรายได้ แต่ทีดีอาร์ไอสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม มองว่า โครงการรับจำนำข้าวทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น เนื่องจากกำหนดราคารับจำนำที่ 15,000 บาท/ตัน เพื่อให้เพียงพอต่อต้นทุนการเพาะปลูก ขณะที่การประกันราคากำหนดที่ 10,000 บาท/ตันเท่านั้น และยังใช้งบประมาณที่สูง และกลไกราคาไม่ทำงาน
ทั้งนี้โครงการรับจำนำข้าว อาจเกิดการขาดทุนบ้าง ไม่ได้ทำให้เกิดการขาดทุนสูงถึง 3 แสนล้านบาท ตามที่มีการตั้งข้อสังเกต วิธีการระบายข้าวก็ได้ดำเนินการอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นการตรวจสอบการทุจริตในเรื่องนี้ทำได้ไม่ยากเพราะมีองค์กรอิสระสามารถตรวจสอบได้ตลอด ดังนั้นขอให้มีความมั่นใจ และรัฐบาลพร้อมชี้แจงทุกข้อสังเกตในสภา
รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง ตลาดทุนไทยในการเปิดเสรี ในงาน Set in the City ตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่จำเป็นต้องดีที่สุด หรือเป็นที่หนึ่งในโลก แต่ขอให้เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ดี โดยมีภารกิจที่ต้องปฏิบัติให้เอาชนะความคาดหวังที่เป็นธรรมและเหมาะสมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งบริษัทสมาชิก บริษัทจดทะเบียน ส่วนราชการ สถาบันการลงทุน ผู้ลงทุน ผู้อยู่ในวงการที่มีภารกิจด้านต่างๆ
ทั้งนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมมีสิทธิที่จะคิด และได้รับการตอบสนองจากความคาดหวัง แม้แต่คนธรรมดาที่ไม่มีเงินออมในตลาดหุ้น ก็มีสิทธิคาดหวังต่อองค์กรแห่งนี้ เพราะถือเป็นองค์กรที่ลงท้ายด้วยคำว่าประเทศไทย ดังนั้น จึงถือเป็นความท้าทายของผู้บริหารองค์กรและผู้บริหารวงการ ผู้กำหนดนโยบาย
“ความเห็นเฉพาะตัว ภาวะการบริหารองค์กรแห่งนี้ที่เป็นตลาดเสรี คือการเป็นองคกร์ที่ดี หากสามารถเอาชนะความคาดหวังของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จะทำให้องค์กรดำรงอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง และประสบความสำเร็จ" รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าว
ทั้งนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ไทยให้ผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ย 22% ต่อปี แม้จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ และ 9 เดือนแรกของปีนี้ มีผลตอบแทน 26% ถือเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีและมั่นคง ความผันผวนของราคาและผลตอบแทนมีน้อย แม้ในช่วงเศรษฐกิจโลกมีปัญหา นอกจากนี้ยังสามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ลงทุนระยะยาวช่วง 2 ปี เป็นเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ดังนั้นตลาดทุนถือเป็นทางเลือกการออมเงินภายใต้ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ระดับต่ำ แต่การลงทุนยังมีความเสี่ยง