หอการค้าโพลคาดลอยกระทงปีนี้เงินสะพัดกว่าหมื่นลบ. สูงสุดรอบ 7 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 22, 2012 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงวันลอยกระทงปี 55 ว่า การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในปีนี้คาดว่าจะคึกคักมากที่สุดในรอบ 7 ปี มีเม็ดเงินสะพัดมากถึง 10,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27.2% เนื่องจากในปีนี้คนไทยวางแผนท่องเที่ยวงานลอยกระทงเพิ่มขึ้นจากที่ปีก่อนไม่ได้ลอยกระทง เพราะต่างเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม ประกอบกับในปีนี้สินค้ามีราคาสูงขึ้น จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุอีกว่าในปีนี้คนไทยจะเข้าร่วมลอยกระทง 62.3%, ไม่ลอยกระทง 35.2%, ไม่แน่ใจ 2.5% โดยส่วนใหญ่คาดว่างานลอยกระทงปีนี้จะคึกคักมากกว่าปีก่อน แต่ปริมาณการซื้อสินค้าจะใกล้เคียงเดิม เพราะราคาสินค้าแพง รายได้ลดลงและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในการไปร่วมลอยกระทงเฉลี่ยคนละ 1,459 บาท เพิ่มจากปีก่อนที่เฉลี่ยคนละ 1,225 บาท โดยกิจกรรมที่ใช้จ่าย แบ่งเป็น ค่าเดินทาง 821 บาท, ค่างานสังสรรค์ 1,387 บาท, ค่ากระทง 183 บาท, ค่าพลุ 267 บาท, ค่าสุรา 888 บาท, ค่าอาหารรับประทาน 791 บาท ลอยกระทงอยู่บ้าน 332 บาท และอื่นๆ 838 บาท

สำหรับสถานที่ลอยกระทงพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะนิยมไปตามสถานที่ที่มีการจัดงาน รองลงมา เป็นละแวกใกล้บ้าน แม่น้ำ ลำคลอง และร้านอาหาร โดยจังหวัดที่นิยมไปลอยกระทง เช่น เชียงใหม่, นครราชสีมา, สุโขทัย, อุบลราชธานี และชลบุรี

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า บรรยากาศลอยกระทงปีนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยการเมืองด้วย โดยเฉพาะการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ซึ่งหากไม่ยืดเยื้อและรุนแรง คาดว่าประชาชนจะใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีก 400 ล้านบาท เป็น 10,700 ล้านบาท ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยไตรมาส 4 ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก 0.3-0.4% ส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมทั้งปีโตเพิ่มขึ้นได้อีก 0.1% เป็นขยายตัว 5.4-5.5%

แต่หากการชุมนุมยืดเยื้อและรุนแรงอาจทำให้บรรยากาศงานลอยกระทงซบเซาลง เพราะคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ 91.5% ตอบว่าการชุมนุมมีผลต่อการตัดสินใจไปลอยกระทง ขณะที่คนต่างจังหวัดมีผลกระทบถึง 66.6% และบางส่วนอาจยกเลิกแผนเที่ยวลอยกระทงด้วยหากการชุมนุมยืดเยื้อ และมูลค่าการใช้จ่ายจะเหลือเพียง 9,800-9,900 ล้านบาทเท่านั้น และจะส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมทั้งปีขยายตัวได้เพียง 5.0-5.3%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ