รฟม.เน้นบริหารเชิงรุกดันแผนเพิ่มรายได้ ห้างขอเชื่อมเส้นรถไฟฟ้าสีม่วง

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday November 25, 2012 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปรับยุทธศาสตร์เน้นเชิงรุกรับนโยบายรัฐบาลเร่งผุดรถไฟฟ้า 6 สาย เพิ่มระยะทาง 10 เท่าเป็น 200 กม. เงินลงทุนราว 5 แสนล้านบาท ด้วยการหารายได้เพิ่ม เพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ ดึงเอกชนร่วมลงทุนสัญญาสัปทาน ลดต้นทุน หวังสร้างความคล่องตัวในการบริหารจัดการ จากปัจจุบันมีหนี้กว่า 1.1 แสนล้านบาท แต่มีรายได้ 100 กว่าล้านบาท พร้อมปรับโครงสร้างองค์กร

ขณะที่ได้มีห้างสรรพสินค้าสนใจที่จะเชื่อมต่อทางเข้า-ออกกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ มีจำนวน 6 จุดตามเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-ราษฏร์บูรณะ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มผู้โดยสารและเพิ่มรายได้ และจะทำให้รฟม.มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นส่วนหนึ่งตามแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนของรฟม. ซึ่งที่ผ่านมาห้างเซ็นทรัลพระราม 9 ที่เชื่อมต่อทำให้สถานีพระราม 9 มีจำนวนผู้โดยสารขึ้นเป็นเท่าตัว

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า รฟม.มีภารกิจที่ดำเนินตามแผนแม่บทที่จะขยายเส้นทางรถไฟฟ้า 6 เส้นทางในช่วงปี 54-62 ได้แก่ สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่- ราษฎร์บูรณะ, สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง- บางซื่อ,บางซื่อ-ท่าพระ , สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่, ช่วงสะพานใหม่-คูคต, สายสีส้ม ช่วงตลิงชัน- มีนบุรี, สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ทั้งหมดนี้จะทำให้ระยะทางรถไฟฟ้าเพิ่มเป็น 200 กม. จากปัจจุบันสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง -บางซื่อ ระยะทาง 20 กม.หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่า โดยใช้งบลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท รวมทั้งมีนโยบายเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย

แต่ปัจจุบันต้องมีข้อจำกัดการหารายได้ ติดข้อจำกัดด้านกฎหมาย เช่นการไม่สามารถนำพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้มาก ซึ่งก็ต้องมีการแก้ไข กฎหมายเพื่อให้เกิดความคล่องต้วในการหารายได้ ขณะที่โครงสร้างการเงินไม่สอดคล้อง ทำให้เกิดหนี้สินมาก ทีปัจจุบันมีหนี้สิน 1.1 แสนล้านบาท และยังต้องรับภาระค่าเสื่อมปีละ 2 พันล้านบาทในช่วงเวลา 100 ปี

."ปัจจุบันรฟม.มีหนี้กว่าแสนล้านบาท แต่มีรายได้เพียงปีละประมาณ 100 ล้านบาทเท่านั้น ขณะเดียวกันใช้งบประมาณแผ่นดินปีละ 1 หมื่นกว่าล้านบาท ฉะนั้นต่อไปรฟม.จึงต้องเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ลดค่าเสื่อมราคาในแต่ละปี เป็นต้น" นายยงสิทธิ์ กล่าว

นายยงสิทธิ์ กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้รฟม.จะต้องเร่งก่อสร้างจาก 1 เป็น 8 โครงการ หรือจาก 20 กม. เป็น 200 กม. ทำให้รฟม.จะมีหนี้สินเพิ่ม ดังนั้น รฟม.จะต้องนำที่ดินที่มีอยู่มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์และมีรายได้เพิ่มขึ้นควบคู่กันไป กับการเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร และพัฒนาจุดเชื่อมต่อสถานีนอกจากนี้ แนวทางพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องมีการจัดตั้งบริษัทลูก และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมทุน อาทิ แผนพัฒนาพื้นที่ศูนย์ซ่อมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บริเวณที่ตั้งของสำนักงานรฟม. ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฏีกา ว่ารฟม.สามารถนำที่ดินบริเวณดังกล่าวซึ่งมีเนื้อที่กว่า 1,000ไร่มาพัฒนาได้หรือไม่

ขณะนี้ รฟม.ได้นำแนวคิดตามนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม มาวางแผนงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-ราษฏร์บูรณะ ที่ต้องการให้การก่อสร้างรถไฟฟ้ามีราคาถูก เร็ว และดี ดังนั้นโครงการนี้คาดว่าจะใช้รูปแบบการก่อสร้างแบบดีไซน์แอนด์บิว หรือออกแบบไปก่อสร้างไป ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาก่อสร้างได้ถึง 1-1 ปีครึ่ง ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้กว่า 5,000ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ได้มีแนวคิดในการลดค่าใช้จ่ายโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน ระยะทาง 37.5 กม.ให้รมว.คมนาคมรับทราบ โดยจะทุบสะพานบริเวณรามคำแหง 4 กม. เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง 3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป

และมีแนวคิดปรับโครงสร้างองค์กร โดยจัดตั้งบริษัทลูก และ บริษัทร่วมทุน ตามประเภทธุรกิจ ได้แก่ บริษัทเดินรถ เพื่อบริหารโครงข่าย และลงทุนในเส้นทางใหม่ , บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น เช่าพื้นที่ เช่าพื้นทีโฆษณา เป็นต้น ซึ่งคาดว่าสองบริษัทดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อน ยังมีบริษัทบริหารการเชื่อมต่อ (ITF) และจัดระบบขนส่งเชื่อมต่อและที่จอดรถ และ บริษัทที่ปรึกษาบริหารการบำรุงรักษาและจัดซื้อระบบไฟฟ้า ส่วนบริษัทร่วมทุนกับการเคหะแห่งชาติ เพื่อร่วมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยพื้นที่ที่จะทำร่วมกันเบื้องต้นอยู่ที่ บางใหญ่ ใกล้ศูนย์ซ่อมบางใหญ่ และ ที่ห้วยขวาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ