(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ต.ค.ส่งออกโต 15.57% นำเข้าโต 21.61% ขาดดุล 2.47 พันล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 26, 2012 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ เผยภาวะการค้าต่างประเทศในเดือน ต.ค.55 การส่งออกมีมูลค่า 19,524.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.57% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,993.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.61% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 2,469 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่การส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ต.ค.55) มีมูลค่า 191,861.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 206,113.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 7.15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดุลการค้าช่วง 10 เดือนแรก ขาดดุลรวมทั้งสิ้น 14,251.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวมาจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมส่งออกหลังได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมเมื่อปลายปี 54 ประกอบกับการส่งออกในเดือนต.ค. 54 ซึ่งมีฐานต่ำ โดยมีการขยายตัว -1.39% เป็นเพราะผลพวงสถานการณ์น้ำท่วม อย่างไรก็ดีในเดือนต.ค. 54 ในแง่ของการนำเข้าที่มีอัตราการนำเข้าสูงกว่า 20% แสดงให้เห็นว่าในภาคอตุสาหกรรมการผลิตมีความต้องการที่จะนำเข้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่างๆ เข้ามาเพื่อการผลิตและส่งออกมากขึ้น หลังจากที่ภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัวจึงทำให้เห็นตัวเลขการนำเข้าในต.ค.55 ที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

อีกทั้งการฟื้นตัวจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการขยายการส่งออกในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ขณะที่มีปัจจัยลบจากการลุกลามของปัญหาเศรษฐกิจยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าของไทยในประเทศคู่ค้า เช่น จีน สหภาพยุโรป

โดยสินค้าที่สามารถส่งออกเพิ่มขึ้นในเดือน ต.ค.55 ได้แก่ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ และหมวดสินค้าอื่นๆ ได้แก่ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญในภาพรวมเพิ่มขึ้น 24.3% เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์(+23.0%) เครื่องใช้ไฟฟ้า(+25.2%) ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ(+53.4%) เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก(+10.5%) วัสดุก่อสร้าง(+74.5%) อัญมณีและเครื่องประดับ(+3.9%) ผลิตภัณฑ์ยาง(+2.1%) สิ่งพิมพ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์(+18.0%) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน(+9.9%) ส่วนสินค้าส่งออกที่ลดลง เช่น สิ่งทอ(-3.2%) เครื่องเดินทาง เครื่องหนัง และรองเท้า(-3.4%) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์(-2.2%) และหมวดสินค้าอื่นๆ ในภาพรวมเพิ่มขึ้น 16.3%

ขณะที่หมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรในภาพรวมลดลง 9.0% เช่น ยางพารา(-40.1%) กุ้งแช่แข็งและแปรรูป(-24.5%) ผักและผลไม้(-29.1%) น้ำตาล(-12.3%) ส่วนสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว(+29.2%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง(+34.7%) อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป(ไม่รวมกุ้ง)(+11.9%) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป(+15.3%)

ขณะที่การส่งออกเป็นรายตลาดในเดือน ต.ค.55 เพิ่มขึ้นได้ดีในทุกตลาด โดยตลาดหลักในภาพรวมเพิ่มขึ้น 12.3% โดย ญี่ปุ่น(+10.2%) สหรัฐอเมริกา(+17.0%) สหภาพยุโรปสมาชิกเดิม 15 ประเทศ(+9.6%), ตลาดศักยภาพสูงในภาพรวมเพิ่มขึ้น 11.9% โดยอาเซียน(9)(+14.0%) เอเชียใต้(8)(+19.2%) อินเดีย(+37.7%) ฮ่องกง(+55.9%) เกาหลีใต้(+15.2%) ไต้หวัน(+14.6%) ตลาดที่ลดลงได้แก่ จีน(-7.7%), ตลาดศักยภาพระดับรองในภาพรวมเพิ่มขึ้น 31.4% โดยทวีปออสเตรเลีย(+46.7%) ตะวันออกกลาง(+37.7%) ทวีปแอฟริกา(+36.4%) ลาตินอเมริกา(+11.3%) รัสเซียและCIS(+72.0%) แคนาดา(+10.0%) ตลาดที่ลดลงได้แก่ สหภาพยุโรปสมาชิกใหม่ 12 ประเทศ(-2.8%) และตลาดอื่นๆ ในภาพรวมเพิ่มขึ้น 12.0% โดยสวิตเซอร์แลนด์(+16.6%)

ส่วนการนำเข้าในเดือน ต.ค.55 เป็นการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยหมวดเชื้อเพลิง(+35.6%) (ประเภทน้ำมันดิบ (+43.3%) น้ำมันสำเร็จรูป(-6.6%)) หมวดสินค้าทุน(+48.3%) (ประเภทเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม(+54.6%) เครื่องจักรไฟฟ้า (+86.2%)) หมวดวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป(-3.7%) (ประเภทอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(+20.3%) เคมีภัณฑ์(+6.7%) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์(+4.1%)) หมวดอุปโภค/บริโภค(+29.1%) (ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (+23.7%))หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง(+70.1%) (ประเภทส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์(+61.2%) รถยนต์นั่ง (+75.5%) และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก (+153.8%))

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ คาดว่า การส่งออกในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ (พ.ย.- ธ.ค.) การส่งออกในแต่ละเดือนจะโตเฉลี่ยได้มากกว่า 10% ซึ่งทำให้คาดว่าในไตรมาส 4/55 การส่งออกน่าจะโตได้มากกว่า 10% โดยประเมินว่าจะทำให้การส่งออกทั้งปี 55 ขยายตัวได้ในระดับ 4.5-5.0%

ในขณะที่แนวโน้มการส่งออกปี 56 กระทรวงพาณิชย์จะนัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในช่วงวันที่ 28 - 30 พ.ย.นี้ ซึ่งประกอบด้วย ทูตพาณิชย์แต่ละประเทศ ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าแต่ละอุตสาหกรรม ร่วมประเมินสถานการณ์การส่งออกสำหรับปีหน้า เพื่อให้สามารถมีข้อสรุปถึงเป้าหมายการส่งออกปีหน้าก่อนที่จะนำเสนอต่อรมว.พาริชย์ ประกาศเป็นเป้าหมายการส่งออกปี 56 ต่อไป

"เราอยากเห็นตัวเลขการส่งออกที่เป็น 2 หลัก ซึ่งเรามีวิธีการผลักดันการส่งออกด้วยวิธีใหม่ๆ ได้ แต่ต้องอาศัยการตัดสินใจและความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ด้วย" นางศรีรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในปี 56 ยังมีมุมมองที่ดีกับการส่งออก เช่น ในแง่ตลาด ซึ่งตลาดส่งออกไม่ได้หดตัวหรือชะลอไปทุกตลาด และมีความหวังต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแต่ละประเทศ ซึ่งหากแต่ละประเทศมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจมาก จะช่วยทำให้ประเทศนั้นมีแรงซื้อและแรงนำเข้ามากขึ้น แต่ว่าปัจจัยตัวนี้ยังเป็นปัจจัยที่ควบคุมยาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ