ขณะที่อัตราการใช้กำลังผลิต ในเดือนต.ค.55 อยู่ที่ 67.93%
โดยในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 55) ดัชนี อยู่ที่ 176.23 ขยายตัวลดลง -3.16%
นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผูอำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของการขยายตัวเป็นผลของฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของภาคอุตสาหกรรม อาทิ ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์, ยานยนต์ และชิ้นส่วน, พลาสติก, แปรรูปโลหะ, อาหาร และเคมีภัณฑ์ ทำให้ผู้ผลิตหยุดผลิตเป็นเวลากว่า 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.54) ส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม และที่ไม่ถูกน้ำท่วมแต่ขาดแคลนชิ้นส่วนวัตถุดิบในการผลิต ทำให้ดัชนีอุตสาหกรรมในช่วงดังกล่าวลดลงกว่า 30%
สำหรับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมสาขาสำคัญในเดือนต.ค.55 มีการผลิตที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ขยายตัว 387.24% ตามคำสั่งซื้อที่ค้างอยู่เป็นจำนวนมากและการใช้สิทธิตามนโยบายรถคันแรก, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ การผลิตเพิ่มขึ้น 32.79%, อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย เพิ่มขึ้น 4.86%, อุตสาหกรรมเนื้อไก่แปรรูป เพิ่มขึ้น 2.15% เนื่องจากช่วงนี้มีการขยายฐานการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับลูกค้าในสหภาพยุโรป และอุตสาหกรรมมอลต์ลิกเคอและมอลต์ เพิ่มขึ้น 72.20%
สำหรับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมในเดือนพ.ย.55 คาดว่าภาวะการผลิตจะยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี แม้จะยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤติ EU แต่มีสัญญาณที่ดีจากการนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่ไม่รวมทองคำกลับมาขยายตัวถึง 12.94% ในเดือนต.ค.55 หลังจากที่ติดลบอย่างต่อเนื่องมา 2 เดือน
นอกจากนี้ สศอ.ยังคงประมาณการภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ปี 55 ขยายตัว 5.0-6.0% และ ปี 56 ขยายตัว 3.5-4.5%