นอกจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยนอกเหนือจากเรื่องภาวะเศรษฐกิจผันผวนแล้ว ยังมีเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศต่างๆ เช่น อียิปต์ ซีเรีย เป็นต้น รวมถึงเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรง ซึ่งระยะหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นบ่อยๆ และเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย ตลอดจนปัจจัยจากบทบาทของประเทศมหาอำนาจที่เพิ่มขึ้น
สำหรับอนาคตของประเทศไทยในปี 56 นั้นจะต้องเตรียมการและปรับเปลี่ยนความคิดในการทำงานจากโหมดลุยเดินหน้ามาเป็นโหมดเฝ้าระวัง ซึ่งคาดว่าปีนี้ประเทศไทยจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับ 5-6% ส่วนในปี 56 น่าจะอยู่ที่ระดับ 4-5% เนื่องจากฐานในปี 55 อยู่ในระดับที่สูง และการส่งออกยังมีความไม่แน่นอน ทำให้อัตราการเจริญเติบโตมีไม่มาก และยังมีปัจจัยเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง ขณะที่มีปัจจัยบวกจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการขยายตัวด้านธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวเนื่องจากมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน
โดยตัวชี้วัดว่าระบบเศรษฐกิจใดสามารถปรับโครงสร้างให้รอดพ้นวิกฤตมาได้หรือไม่มี 2 ประการ คือ 1.มีอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับปกติ และ 2.มีอัตราการมีงานทำที่อยู่ในระดับปกติเช่นกัน ซึ่งหากตัวชี้วัดทั้งสองประการยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติแสดงว่าการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจว่ามีความยั่งยืนหรือไม่ และสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงตามมาคือการเคลื่อนย้ายเงินทุน
ส่วนขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศนั้น ประเทศไทยต้องมีการลงทุนในด้านต่างๆ ได้แก่ 1.การเพิ่มศักยภาพของบุคลากรให้มีคุณภาพมากขึ้น 2.การปรับกระบวนการผลิตให้มีความเชื่อมโยงกันเพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ
นายโฆสิต กล่าวว่า เมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 58 จะต้องช่วยกันทำให้เกิดความเข้มแข็งและมีเอกภาพ ส่วนการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศนั้นเป็นเรื่องที่สมควร แต่รัฐบาลต้องรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนด้วย